วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปัญญาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ต


หลังจากแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตน้อยลง จนมีปริมาณไม่เพียงพอที่ผู้ลงทุนขอสัมปทานเปิดเหมืองต่อไปได้ รัฐบาลและจังหวัดภูเก็ตพยายามที่จะพัฒนาเมืองภูเก็ตให้ยั่งยืนสืบไป และรุ่งเรืองดังเช่นสมัยที่เมืองภูเก็ตเต็มไปด้วยแร่ดีบุก ประกอบกับความโชคดีของจังหวัดภูเก็ตที่มีสิ่งทดแทน คือ ทะเล หาดทราย และแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ จังหวัดภูเก็ตจึงได้วางแผนพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยกรธรณีวิทยา กรมโยธาธิการ กรมการบินพลเรือน สำนักผังเมือง บริษัทวิจัยธุรกิจ ในปี พ.ศ.2522 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้าง บริษัท Design 103 และ Pacific Consultants เป็นผู้ศึกษาโครงการ และจังหวัดภูเก็ตได้วางนโยบายสำคัญก่อนเปิดประตูสู่การท่องเที่ยว ดังนี้

1. คงไว้ซึ่งลักษณะประจำถิ่นของจังหวัดภูเก็ต

2. อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. พัฒนาให้เป็นที่พักตากอากาศระดับสากล

4. พัฒนาชายหาดแต่ละแห่งให้เป็นสถานที่ตากอากาศ ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามลักษณะของนักท่องเที่ยว

5. พัฒนาสถานที่ตากอากาศ ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของนักท่องเที่ยว

6. คงลักษณะที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของตัวเอง

7. ให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวมากที่สุด

ประเพณีเกี่ยวกับภาษาและการพูดจา

ประเพณีเกี่ยวกับภาษาและการพูดจา

การพูดจาระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทรักใคร่ชอบพอกัน มักใช้คำหยาบทักทายกันโดยไม่สนใจว่าผู้ใดจะได้ยิน คนที่ไม่เข้าใจหรือคนต่างถิ่นอาจจะเข้าใจผิดว่าทะเลาะกัน การขานรับการเรียกของผู้ใหญ่ที่ใช้โดยทั่วไป คือ “โอย” “จ๋า” และคำที่ใช้แสดงการเห็นด้วยมักใช้คำว่า “เออ” หรือ “อือ” “จ๊ะ” ถ้าต้องการพูดแสดงถึงความสุภาพลดความกระด้างลงด้วยหางเสียงว่า “อ๊าว” “อื้อ” “น้า” “ต๊า” “อ่า” เป็นต้น

ภูเก็ตไม่มีประเพณีคนรับใช้ที่จะต้องย่อตัวหรือคุกเข่าต่อหน้าเจ้านาย ทุกคนจะยืนหรือนั่งในที่เสมอกันหมด คนขับรถมีสิทธิ์ร่วมโต๊ะอาหารกับนายจ้างได้ ทำให้ข้าราชการที่ได้มีโอกาสมาบริหารจังหวัดภูเก็ตในระดับผู้ปกครอง มักจะมองว่าชาวภูเก็ตเป็นคนกระด้าง

ภูเก็ตยุคปัจจุบัน กำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้คนต่างถิ่นต่างชาติหลั่งไหลมาเที่ยวภูเก็ต มาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในภูเก็ต อารยธรรมต่างๆ ย่อมหลั่งไหลเข้ามาด้วย และจะต้องกระทบกระเทือนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม ของท้องถิ่นซึ่งมีอยู่เดิม อันสมควรจะนำมาศึกษา เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวิวัฒนาการของประเพณีดั้งเดิมของภูเก็ต ซึ่งจะมีส่วนปลูกฝังจิตสำนึก และค่านิยมในการที่จะรักษาวัฒนธรรมของตนมิให้ถูกทำลาย หรือถูกกลืนหายไปจนหาต้นกำเนิดไม่ได้

ประเพณีเดินเต่า

ประเพณีเดินเต่า

ประเพณีเดินเต่า
ประเพณีเดินเต่า

เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ต นายสมชาย สกุลทับ ได้อธิบายว่า เดินเต่า คือการเดินหาไข่ที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย นิยมกันในบริเวณที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่ คือ บริเวณริมหาดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ต ทางฝั่งทะเลตะวันตกของอำเภอท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัด ประเพณีเดินเต่ามีมานานแล้ว โดยสมัยดั้งเดิมนั้นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับชายหาดต่างๆ นิยมคดห่อ (ห่อข้าว) ไปกินกันที่ชายทะเลในตอนบ่ายๆ และจะอยู่กันจนรุ่งเช้า จุดไฟผิงกันหนาวแล้วก็ถือโอกาสเดินหาไข่เต่า ซึ่งเป็นสิ่งที่หายาก และเป็นอาหารที่โอชะ การเดินเต่านั้นเดินกันได้เฉพาะฤดูเต่าวางไข่เท่านั้น คือ ประมาณเดือน 11 แรม 1 ค่ำ รายปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน 11 แรม 1 ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน 4 หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ การเดินเต่าในสมัยดั้งเดิม สามารถเก็บไข่เต่ากันได้ทุกคน แต่สมัยหลังๆ รัฐบาลเก็บภาษี โดยให้มีสัมปทานเป็นหาดๆ ไป การเดินเต่าเพื่อเก็บไข่เต่าจึงเป็นสิทธิของผู้รับสัมปทานตามกฎหมาย คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิที่จะเก็บได้ เพียงเดินเต่าเพื่อความสนุกสนาน เพื่อดูเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เท่านั้น

ในช่วงเวลาของการเดินเต่า จะมีผู้คนคึกคักตามชายหาด เพื่อรอดูเต่าวางไข่ เต่าจะมีลักษณะพิเศษประจำ คือ ตัวใดที่เคยมาวางไข่บริเวณใด ก็จะมาประจำบริเวณนั้นและคืนนั้นทุกปี เนื่องจากปัจจุบัน มีการขยายตัวของการท่องเที่ยวเกิดขึ้นทุกชายหาดของภูเก็ต ประกอบกับจำนวนเต่าทะเลลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ค่อยมีเต่าขึ้นมาวางไข่ตามชายหาดเลย ประเพณีการเดินเต่าจึงเปลี่ยนไปเป็นการตั้งแคมป์พักแรมตามชายหาด เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่การเดินเต่าตามความหมายที่แท้จริงดังในอดีต

ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล

ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล

ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล
ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล

ประเพณีนี้เพิ่งจะเริ่มจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง เนื่องจากริมชายหาดของภูเก็ตถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หาดทรายซึ่งเคยสงบเงียบถูกสร้างเป็นอาคาร หรือปักร่มสำหรับของนักท่องเที่ยว เสียงรบกวนของดนตรีและแสงไฟ ทำให้จำนวนเต่าซึ่งเคยมาวางไข่เป็นประจำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ค่านิยมการบริโภคไข่เต่า และเนื้อเต่า การทิ้งน้ำเสียลงทะเล ทิ้งขยะมูลฝอยลงทะเล โดยไม่คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตในทะเลทำให้จำนวนเต่าลดลง คาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า ถ้าไม่มีการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี ฉะนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับชาวบ้านตำบลไม้ขาว ได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้น และจัดให้มีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี โดยสถานีประมงจังหวัดภูเก็ตได้ให้ความร่วมมือจัดหาลูกเต่ามาให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ประเพณีปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล เป็นการปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นของตน เกิดความรักท้องถิ่น ด้านความเชื่อเกี่ยวกับเต่า คนภูเก็ตเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืน เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม และเชื่อว่าการปล่อยเต่า เป็นการสร้างบุญบารมีอีกอย่างหนึ่ง

ประเพณีทำบุญขวัญเด็ก

ประเพณีทำบุญขวัญเด็ก


เป็นประเพณีที่รับมาจากจีน ทำให้ทั้งลูกหญิงและลูกชาย พิธีนี้จะทำเมื่อบุตรอายุครบ 1 เดือน เริ่มด้วยตอนเช้าอาบน้ำเด็กที่เข้าพิธีเสียก่อน แล้วนำเด็กไปไหว้พระในศาลเจ้า และขอชื่อเป็นทางการ (ชื่อภาษาจีน) และขอพรจากพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เด็ก ผู้ปกครองของเด็กจะทำขนมเต่าแดง ไข่ต้มทาสีแดง และข้าวเหนียวคลุกน้ำมัน (อิ่วปึ่ง) เพื่อไหว้บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เหลือจะนำไปแจกญาติพี่น้องหรือคนที่คุ้นเคย เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า บ้านนี้มีลูกอายุครบ 1 เดือนแล้ว บ้านไหนที่ได้รับอิ่วปึ่งเป็นของบอกกล่าว ก็จะมีของตอบแทนให้ มักเป็นเงินใส่ซองแดง (อั่วเปา) หรือข้าวสาร เส้นหมี่ซั่ว ไข่ไก่ ให้เป็นสิริมงคลแก่เด็ก

งานบุญเดือนสิบ

งานบุญเดือนสิบ


การจัดงานวันสารทไทยหรือวันทำบุญเดือนสิบของชาวภูเก็ตมี 4 วัน คือ วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ที่วัดม่าหนิก วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ที่วัดพระทอง วันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 ที่วัดเทพกระษัตรี ส่วนวัดทั่วไปนิยมจัดงานบุญเดือนสิบในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวภูเก็ตที่นับถือศาสนาพุทธพร้อมใจกันนำอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง เครื่องครัวไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เพื่อทำบุญกุศลอุทิศให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว และมีขนมลา (ขนมที่มีเส้นเล็กๆ ทำจากแป้งและน้ำตาลทอดในน้ำมัน) เป็นขนมที่สำคัญที่จะขาดมิได้ โดยเชื่อว่าถ้าหากบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ต้องชดใช้กรรมเป็นเปรต ก็จะกินอาหารประเภทนี้ได้ เพราะเปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็ม ไม่สามารถกินอาหารอื่นๆ ที่ทำอุทิศให้ได้จึงต้องเผื่ออาหารประเภทนี้ไว้ด้วย ชาวภูเก็ตในอดีตมีการทำสอบช่อ (สอบช่อถือเป็นงานศิลปะหัตกรรมจักรสานท้องถิ่น) สำหรับใส่อาหารแห้ง และจัดทำช่อผักผลไม้เพื่อนำมาช่วยโรงครัวทางวัด หรือบางหมู่บ้านมีประเพณีการแห่จาด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเพณีนี้กำลังจะหมดไป ยังคงศึกษาได้จากงานบุญเดือนสิบวัดเทพกระษัตรี (วันบ้านดอน)

ประเพณีงานศพในภูเก็ต

ประเพณีงานศพ

ประเพณีงานศพภูเก็ต
ประเพณีงานศพแบบจีน ภูเก็ต

งานศพไทย

มีพิธีอาบน้ำศพ และบรรจุหีบศพ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่กับบ้าน หรือถวายสังฆทานมีการเลี้ยงแขกหรือที่มาในงานศพ ทั้งอาหารคาวหวานและเครื่องดื่ม แขกส่วนใหญ่นิยมไปงานศพเวลากลางคืน ในเวลากลางวันเป็นเรื่องของหมู่ญาติ ซึ่งมาช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระ เมื่อถึงเวลาฌาปนกิจจะเคลื่อนศพไปเผายัง ฌาปนสถาน และมักใช้แรงงานญาติมิตรที่ใกล้ชิด ช่วยกันแบกหีบศพวน 3 รอบ ก่อนนำขึ้นสู่เตาเผาวันรุ่งขึ้นตอนเช้าตรู่ทำพิธีเก็บกระดูก บางคนนำกระดูกไปฝัง บางคนนำไปใส่สถูปที่จัดเตรียมไว้ บางคนนำไปลอยทะเล

งานศพจีน 

หีบศพแบบจีน หรือ โลงจีนทำด้วยไม้ซุงทั้งท่อน โดยขุดเป็นหลุมให้ใส่ศพได้ เรียกว่าโลงหัวหมู มีการแต่งตัวผู้ตายและใส่ทรัพย์สินประจำตัวผู้ตายลงไปในโลงศพด้วยการตั้งศพบำเพ็ญกุศลนิยมตั้งศพไว้ที่บ้าน ก่อนนำไปฝังที่สุสานตามประเพณี ในการตั้งศพไว้ที่บ้าน บางคราวต้องปิดถนน เพื่อใช้เนื้อที่ของถนนวาง โต๊ะ เก้าอี้ กางเต้นท์ เพื่อรับรองแขกเหรื่อที่มาร่วมงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมไปร่วมงานในตอนกลางคืน พิธีกรรมมีทั้งพิธีสงฆ์นิกายหินยานและมหายาน หรือ พิธีสวดกงเต็ก การเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมในงาน เป็นเรื่องใหญ่ที่เจ้าภาพถือว่า จะต้องไม่ให้ขาดตกบกพร่อง อาหารที่ใช้เลี้ยงในงานศพมีทั้งคาวหวานและเครื่องดื่ม การเคลื่อนศพไปฝังนิยมใช้คนเป็นจำนวนมากช่วยกันหามโลงไปสุสาน โดยเฉพาะถ้าเป็นศพหรือญาติพี่น้องของเศรษฐีเหมืองแร่จะนำกุลีเหมืองมาช่วยหามโลงศพผลัดเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ ก่อนถึงหลุมฝังศพ นิยมนำไปฝังในสุสานของตระกูล สุสานกวางตุ้ง สุสานเขารัง ผู้ที่มาช่วยหามโลงศพจะได้รับ ของที่ระลึกถ้าเจ้าภาพมีฐานะจะเป็น อังเปา (เงินใส่ซองแดงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้นำ ช่วยงาน) หรือผ้าขาวม้าสีแดง ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ผูกโบว์สีแดง เป็นต้น

ก่อนเคลื่อนศพออกจากบ้าน จะต้องตั้งโต๊ะไหว้ศพ ของที่นำมาเซ่นไหว้ได้แก่ ไก่ หัวหมู หรือใช้หมูย่างทั้งตัว เส้นหมี่เหลือง เหล้าขาว ขนมครบชุด ผลไม้ ผัก โดยลูกหลานต้องออกมาทำความเคารพแบบจีน และกล่าวคำเชิญผู้ตายให้รับของดังกล่าว พิธีนี้ต้องกระทำให้เสร็จสิ้นก่อนเที่ยง เพราะนิยมเคลื่อนศพออกจากบ้านเวลาเที่ยง นอกจากนี้ลูกหลานจะต้องไว้ทุกข์โดยการสวมเสื้อผ้าเนื้อดิบ ไม่โกนหนวด ไม่ตัดผม และไม่รีดเสื้อผ้า เป็นเวลา 11 เดือน กับอีก 28-29 วัน จึงจะโกนหนวด ตัดผมได้ และเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อผ้าสีเขียวเรียกว่า “ผลัดเขียว” เป็นเวลา 99 วัน จึงเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อผ้าสีแดงและสีต่าง ๆ เรียกว่า “ผลัดแดง” เป็นอันสิ้นสุดการไว้ทุกข์ ปัจจุบันการไว้ทุกข์ไม่เคร่งครัด แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวแต่งกายไว้ทุกข์ เป็นเวลา 3 เดือนบ้าง 1 เดือนบ้าง หรือบางครอบครัวออกทุกข์ทันทีหลังเสร็จสิ้นงานศพ

ความเชื่อเกี่ยวกับการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายของภูเก็ต


ในสมัยก่อนนิยมจัดงานศพที่บ้านไม่ว่าคนไทยหรือคนจีน หากชาวจีนที่มีฐานะดีถึงแก่กรรมนอกบ้าน ก่อนนำศพเข้าบ้าน จะมีการว่าจ้างบุคคลที่มีลักษณะคล้ายผู้ตายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของผู้ตาย ทำทีเดินเข้าทางหน้าบ้าน ส่วนลูกหลานก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันปกติ เข้ามาทักทาย ใครเรียกเตี่ย เรียกก๋ง ก็เรียกเหมือนครั้งที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ เรียกให้นั่งยกน้ำชาให้ดื่ม สักครูจึงมีเสียงร้องไห้ รำพึงรำพันว่าผู้ตายเสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นจึงนำศพผู้ตายเข้าทางหลังบ้านแล้วจึงจัดการทำศพตามประเพณีต่อไป

แต่บางกระแสเล่าว่า มีการแต่งกายให้ผู้ตายเหมือนปกติเป็นประจำทุกวัน แล้วลูกหลานช่วยประคองผู้ตายเข้าทางหน้าบ้าน จัดให้นั่งในที่ๆ เคยนั่งประจำ แล้วจัดให้ผู้ตายนอนลง สักครู่ลูกหลานจึงร้องไห้รำพันถึงการเสียชีวิตของผู้ตาย

พิธีการเหล่านี้ เป็นความเชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคลรุ่งเรืองของลูกหลานสืบไป

งานศพมุสลิม

ชาวมุสลิมในภูเก็ต เมื่อถึงแก่กรรมลงจะทำพิธีศพและนำไปฝังที่สุสานภายใน 24 ชั่วโมง หลังการสิ้นชีวิต นายสุรชัย สาริยา เล่าว่า “พิธีอาบน้ำศพ น้ำอาบศพ จะใส่ใบพุทธา และพิมเสน ครั้นศพสะอาดแล้วจึงเอาสำลีปิดทวารทั้งห้า ห่อศพด้วยผ้าขาว 3 ชั้น โรยด้วยเครื่องหอม มีพิมเสน การบูร และกำยานผง แล้วนำศพไปทำพิธีละหมาด เพื่อขอพรให้แก่ผู้ตาย ก่อนพิธีละหมาด ลูกหลานของผู้ตายจะสอบถามแขกเหรื่อที่มาในงานว่า ผู้ตายมีหนี้สินกับใครบ้าง ต่อไปให้ติดต่อใช้หนี้กับลูกหลานคนใดคนหนึ่งแล้วแต่ละกำหนด หลังจากนั้นจึงนำศพไปที่สุสานเพื่อฝังในหลุมที่เตรียมไว้ วางศพลงบนพื้นดินในหลุม ตะแคงศพไปทางทิศตะวันตก เอาโลงศพที่ไม่มีพื้นท้องโลงครอบศพ แล้วจึงถมดินกลบและมีความเชื่อว่า การฝังศพห้ามเอาศพลงหลุมเวลาเที่ยงตรงกับช่วงตะวันโพล้เพล้”

ประเพณีแต่งงาน

ประเพณีแต่งงาน


ประเพณีแต่งงานของชาวภูเก็ต มีลักษณะผสมผสานกันทั้งจีน ไทย ฝรั่ง กลายเป็นไทยนิด จีนหน่อย ฝรั่งกลาย คือนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันการแต่งงานแบบไทย มีการหมั้นหมายและทาบทามสู่ขอเพื่อตกลงกำหนดวันพิธีขันหมาก ทำพิธีสงฆ์ หลั่งน้ำพระพุทธมนต์แก่คู่บ่าวสาว เลี้ยงฉลองและส่งตัวเข้าหอ มีพิธี “เวียนสาดเวียนหมอน” คือ เชิญคู่สามีภรรยาที่ครองคู่กันอย่างราบรื่นเป็นผู้ทำพิธีให้ การแต่งงานแบบจีนเดิมยึดถือประเพณีจีน แต่งตัวแบบจีนเจ้าสาวคลุมหน้าคลุมตา จะได้เห็นหน้าตอนเข้าหอ มีการคารวะผู้ใหญ่หลายครั้งหลายหนการทาบทามการหมั้น เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น

การแต่งงานของชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ เมื่อหนุ่มสาวชอบพอรักใคร่ ก็จะให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอและทำการหมั้นหมาย นัดวันแต่งงาน บางคู่มีการหมั้นและแต่งงานในวันเดียวกัน วันทำพิธีแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวยกขบวนแห่ (ขบวนรถยนต์) ไปบ้านเจ้าสาว มี พัวเกี๋ย (เพื่อนเจ้าบ่าว) ไปเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว ยิ่งมากยิ่งดี มีการจุดประทัดต้อนรับเจ้าบ่าวอาจมีพิธีสงฆ์หรือไม่มีก็ได้ ในช่วงเช้าจะเริ่มพิธีคู่บ่าวสาวคารวะญาติผู้ใหญ่ด้วยการเชิญดื่มน้ำชา (เจี๊ยะเต๋) มีผู้เรียกขานชื่อญาติตามลำดับชั้น เข้ารับน้ำชาจากคู่บ่าวสาวในช่วงนี้ญาติพี่น้องจะให้เงินทองทรัพย์สินแก่คู่บ่าวสาว ปัจจุบันนิยมทำในตอนเย็นก่อนงานเลี้ยงตอนค่ำ กลางคืนมีพิธีส่งตัวเข้าหอ คู่บ่าวสาวในสมัยก่อนนิยมแต่งกายด้วยชุดครุยเจ้าบ่าวแต่งสูทแบบสากล หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เจ้าสาวนิยมแต่งกายด้วยชุดราตรีสีขาวแบบฝรั่ง (ภูเก็ตเรียกว่า “ชุดบุ่นเบ๋ง”) เจ้าบ่าว สวมสูทแบบสากล

การแต่งงานแบบมุสลิม ชาวมุสลิมนิยมหาคู่หมั้นไว้ให้ลูกหลายของตนไปแต่งงานกับคนต่างศาสนา แต่ปัจจุบันการคบหาสมาคมกวางขวางขึ้น ทำให้การแบ่งแยกศาสนาในเรื่องคู่ครองลดความเข้มงวดลง

ประเพณีกินผัก

ประเพณีกินผัก
ประเพณีกินผัก
ประเพณีกินผัก

ประเพณีกินเจ ซึ่งชาวภูเก็ตเรียกว่า “งานกินผัก” หรือ “เจี๊ยะฉ่าย” จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ของจีน ซึ่งตรงกับเดือน 10 ของไทย ประเพณีกินผัก เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ต ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน เริ่มมีการจัดขึ้นครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวจีนเข้ามาทำเหมืองแร่อยู่เป็นจำนวนมาก

ประเพณีกินผักนี้ สืบเนื่องมาจากชาวจีนในภูเก็ต ต้องการที่จะดำรงประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายต่าง ๆ จึงได้ส่งตัวแทนไปน้ำขี้เถ้าและควันธูป (จุดธูปต่อเนื่องกันมา) ที่มณฑลกังไส ประเทศจีนนำมาบูชาที่ศาลเจ้ากะทู้เป็นแห่งแรก มีการเซ่นไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพชนและเซียน อันประกอบด้วยนักรบต่าง ๆ มีการทรงเจ้าองค์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละองค์ก็มีอภินิหารต่าง ๆ กัน ประเพณีกินผัก จึงเป็นประเพณีซึ่งมีการผสมผสานความเชื่อของชาวจีนในลัทธิต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อ การนับถือเทพเจ้าบนพื้นดินบนสวรรค์ พระอิศวรผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล และพุทธศาสนามหายาน

ประเพณีกินผักมีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผู้ร่วมพิธีจะสวมชุดขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

การประกอบพิธีกรรมในประเพณีกินผัก ทั้งที่ศาลเจ้าและที่บ้าน ผู้ที่จะกินผักที่บ้านของตนเองนั้น จะเริ่มต้นด้วยการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จะใช้ประกอบอาหารจนหมดกลิ่นคาว หรือใช้ภาชนะชุดใหม่ในการประกอบอาหารเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า “เช้ง” ส่วนผู้ที่ประกอบพิธีจะไปรับประทานอาหารที่โรงครัวของศาลเจ้า การกินผักจะมี 9 วัน แต่ผู้ที่ร่วมกินผักนั้นอาจจะสมัครใจกิน 3 วัน 5 วัน หรือทั้ง 9 วัน ก็ได้ ผู้ที่จะกินผักจะต้องตามไปเคารพสักการะเทพเจ้าที่ศาลเจ้า (อ๊าม)

พิธีกินผักที่ศาลเจ้าจะเริ่มต้นด้วยการยก เสาโกเต้ง (เป็นเสาธงสูงปลายเสาเป็นไม้ไผ่แขวนตะเกียงน้ำมัน 9 ดวง) อันหมายถึงดวงวิญญาณของกิวอ๋องไต่เต่ คำว่า กิวอ๋องไต่เต่ หมายถึง เทพเจ้า 9 องค์ ในช่วง 9 วันนี้ จะมีพิธีย่อย ๆ หลายอย่าง เช่น

พิธีบูชาเจ้า มีการบูชาด้วยเครื่องเซ่น ทั้งที่ศาลเจ้าและที่บ้านของผู้ที่กินผักทำในวันแรกของพิธี

พิธีโขกุ้น เป็นการเลี้ยงทหาร จะทำในวันขึ้น 3 ค่ำ 6 ค่ำ 9 ค่ำ หลังเที่ยงมีการเตรียมอาหาร เหล้า สำหรับเซ่นสังเวยทหารปละม้าศึก

พิธีซ้องเก็ง เป็นการสวดมนต์ จะสวดวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ

พิธีบูชาดาว จะทำในคืนวันขึ้น 7 ค่ำ มีการแจกฮู้ (กระดาษยันต์สีเหลือง) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้กินผัก

พิธีแห่พระ พระจะออกเดินไปตามท้องถนนเพื่อโปรดสัตว์ มีเกี่ยว (เก่ว) หามพระบูชาต่าง ๆ ไปตามถนน ในขณะที่ขบวนผ่านชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชา และจุดประทัดต้อนรับขบวนที่ผ่านมา พิธีลุยไฟ (โก๊ยโห้ย) เป็นการแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระ ที่สามารถบังคับไฟไม่ให้ร้อน และถือว่าเป็นไฟที่ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ได้

พิธีโก๊ยห่าน จะกระทำหลังพิธีลุยไฟ ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องเตรียมสิ่งของต่อไปนี้ คือ กระดาษตัดเป็นรูปตนเองเขียนชื่อกำกับเอาไว้ ผักกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น และเงิน ผู้เข้าร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์จะต้องนำของเหล่านี้ผ่านผู้เข้าทรง ซึ่งยืนอยู่สองข้างทางเดิน เอาสิ่งของมอบให้ผู้เข้าทรง ผู้เข้าทรงจะประทับตราสีแดงด้านหลังเสื้อที่สวม ซึ่งเรียกว่า “ต๊ะอิ่น”

พิธีส่งพระ กระทำในวันสุดท้ายของการกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดาหรือเง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งจะส่งกันที่หน้าเสาธง ส่วนกลางคืนจะส่งพระกิวอ๋องฮุดโจ้วกลับไปสู่สวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ตะเกียงที่แขวนอยู่บนเสาโกเต้งจะถูกลดลง และทหารที่เรียกมาก็จะถูกส่งกลับ เป็นอันเสร็จพิธี

การกินผักในภูเก็ต จะคับคั่งไปด้วยผู้คนที่มาร่วมพิธีนี้ ทุกศาลเจ้าจะมีการประกอบอาหารแจกจ่ายราษฎรทุกวัน การได้กินข้าวในศาลเจ้า ถือว่าเป็นเสมือนยาที่จะรักษาโรคผู้เจ็บป่วยได้

วัฒนธรรมทางภาษาภูเก็ต

วัฒนธรรมทางภาษาภูเก็ต


ภาษาของภูเก็ตแตกต่างไปจากภาษาของภาคใต้ทั่วไป ทั้งในด้านสำเนียงของภาษาการใช้คำเรียกชื่อสิ่งของและสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีคนหลายชาติหลายภาษาเข้ามามีอิทธิพลเหนือคนพื้นเมืองในภูเก็ต โดยเฉพาะคนจีนได้เข้ามาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ เข้ามาตั้งเตาถลุงแร่ และพากันหลั่งไหลเข้ามาทำงาน และตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมืองภูเก็ตมีประชาชนชาวจีนมากกว่าชนพื้นเมืองเสียอีก (จากหลักฐานสมัยอยุธยา แฮมิลตันได้บันทึกเรื่องราวไว้เมื่อ พ.ศ.2243-2262 ตรงกับ ค.ศ.1700-1719 ว่าบ้านเมืองนี้ปกครองด้วยคนจีน กดขี่ขูดรีดประชาชน ประชาชนค่อนข้างยากจน มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ และค่อนข้างจะเฉื่อยชา) ฉะนั้นภาษาของชาวภูเก็ตจึงเป็นภาษาที่ใช้ทับศัพท์ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาพื้นเมืองปะปนกันไปโดยตลอด และถือว่าเป็นภาษาเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตเท่านั้น เช่น

ภาษาท้องถิ่นภูเก็ต ปลาถ้ำ หาญตาย เบื้องขวด ดันพุง เคี่ยวใจ ลักซอก เหม็ดหลอ ถกหวัก เกลือเคย ไฟแกบ มีดแกะ รางราง หม่านิ้ง หอยขร่วน เหล็กไฟ ช้ำทอน ถั่วพรั่ง เหลว เอิดใจ เหล็กขูด เห็นดู หวังเหวิด กำดิง ชุ่น

คำยืมจากภาษาจีนฮกเกี้ยน จุ้ยก้าว เก้เปียะ เสียวโป๋ย ป๋าน ก่าโต้ อ่างอิ๋ว อี้เจ่ โฮเส่ เปาะเปี้ย ต่าวโฮ้ย อั่งหม้อเหลา ป่ายปั๋ว ก๋วยเตี๋ยว

คำยืมจากภาษาอังกฤษ ปลั๊ก ลอรี่ แย็ก หอน สิบปันหน๊า ปั๊ม

คำยืมจากภาษามลายู ชันชี บาหวั้ง เป๊ะ ปาเต๊ะ ตาเบ๊ะ รองเง็ง หล่องป้าง บ่านซ้าน โกปี้ โหล่ตี้ เส่ล้อง อ่าโป้ง ซับบุ๋น ต่อล้า ต๊าห่าน หงู่หนี้ โตหลง

ภาษาไทยผสมจีน เสาหล่อเต้ง ค่อใน หม่ำฉ่อ หมูต่าวอิ๋ว เชือกเกี่ยมฉ้าว อี่เจียะโก้ย

การละเล่นพื้นเมืองภูเก็ต

การละเล่นพื้นเมืองภูเก็ต

เนื่องจากชาวภูเก็ตที่ไม่นิยมจดบันทึกวรรณกรรมพื้นบ้านไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่ใช้การจดจำและเล่าสืบต่อมา อาจเป็นเพราะยุคก่อนผู้คนยังไม่ได้รับการศึกษามีผู้อ่านออกเขียนได้น้อยมาก เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า จึงหลงลืมเลอะเลือนไปในที่สุด เช่นบทร้องของยี่เกรำมะนา เรื่องพระยาราชกปิตัน ซึ่งเป็นนายเรือชาวอังกฤษแต่งงานกับสาวชาวภูเก็ต แล้วรับภรรยาเดินทางไปยังเมืองกัลกัตตา เล่ากันว่า บทร้อยหรองสำหรับการขับร้องของตัวเอกของเรื่องนี้มีความไพเราะ และมีชั้นเชิงศิลปะการใช้ถ้อยคำที่น่าสนใจมาก แต่ปัจจุบันหาผู้จดจำมิได้อีกแล้ว วรรณกรรมที่หลงเหลือเป็นลายลักษณ์อักษรที่พอจะหาดูได้ในปัจจุบัน ได้แก่ หนังสือบุด ซึ่งศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถานบันราชภัฏภูเก็ตกำลังรวบรวม โดได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีไว้ในครอบครอง บริจาคไว้เพื่อให้ศึกษาทางศูนย์ศิลปวัฒนธรรมได้นำมาปริวรรต และพิมพ์อัดสำเนาออกเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจไปบ้างแล้ว เช่น หนังสือบุดช้างน้อย เรื่องพิเภกสอนบุตร พาลีสอนน้อง สวัสดิรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีผู้รวบรวมปริศนาคำทาย ที่ชาวภูเก็ตรุ่นเก่านำมาเล่นทายกัน และจัดพิมพ์อัดสำเนาเผยแพร่ เช่น ปริศนาคำทายจากบ้านม่าเหลา บ้านในทอน บ้านบางเทา บ้านลิพอน บ้านบ่อแร่ นางบุญนาค ศรีอักษร ได้รวบรวมนิทานพื้นบ้านภูเก็ตโดยการสัมภาษณ์และจัดพิมพ์อัดสำเนาได้หลายเรื่อง เช่น นิทานตายมดึง นิทานพ่อตาโต๊ะแซะ นิทานขี้เดินได้ นิทานเขานางพันธุรัตน์

วรรณกรรมพื้นบ้านที่ยังไม่ได้บันทึก ยังมีอื่น ๆ อีกมาก เช่น ปริศนาคำทาย สุภาษิตคำพังเพย ลายแทง เพลงเปล (เพลงกล่อมเด็ก) ตนโย้ง เพลงนา นอกจากนี้ จดหมายเหตุเมืองถลางตัดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อันมีค่ายิ่งของชาวภูเก็ต เป็นเรื่องราวของเมืองถลางในช่วง พ.ศ.2319 ถึง พ.ศ.2336 รวม 48 ฉบับ เป็นจดหมายที่ขุนนางเมืองถลาง เขียนถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ ที่เมืองปีนัง ด้วยภาษาที่ใช้ในเมืองถลางสมัยนั้น สำนวนภาษาที่ใช้เป็นเอกลักษณ์ของชาวภูเก็ตอย่างแท้จริง

การละเล่นพื้นเมืองภูเก็ต

การละเล่นพื้นเมืองภูเก็ต


การละเล่นเพื่อความบันเทิงของชาวภูเก็ตได้แก่ ตนโย้ง รองเง็ง ลิเกป่า หนังตลุง มโนราห์ ลิเก เป็นการละเล่นที่ได้นำมาแสดงในงานรื่นเริงต่าง ๆ และเลือกมาแสดงหรือละเล่นกันตามเชื้อสายเดิมของกลุ่มคนในละแวกหนึ่ง ๆ ชาวภูเก็ตเชื้อสายมาเลย์นิยมให้มีการเล่นรองเง็ง ตนโย้ง หรือลิเกป่า ในขณะที่ชาวภูเก็ตเชื้อสายไทยนิยมลิเก หนังตะลุง หรือมโนราห์ เหล่านี้เป็นต้น

ปัจจุบัน การละเล่นที่กล่าวมานี้เสื่อมความนิยม ที่ยังคงเหลืออยู่ก็มีการดัดแปลงประยุกต์จนผิดเพี้ยนไปจากเดิม เช่น นำรองเง็งมาดัดแปลงท่าร่ายรำให้มีกระบวนท่าสวยงามและมีความพร้อมเพรียง หนังตลุง มโนราห์ ลิเก นำเอาดนตรีประเภทสตริงมาใช้มีนักร้องและหางเครื่องเล่นเป็นการโหมโรงเรียกผู้ชม ตลอดจนการประยุกต์เรื่องหรือบทที่นำมาเล่น ตนโย้ง ลิเกป่า เป็นสิ่งซึ่งหาดูได้ยากขึ้น เพราะไม่มีใครนพมาเล่นหรือนำมาร่วมรายการแสดงในเทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ ของชาวภูเก็ตเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว

ส่วนการละเล่นของเด็ก ๆ ชาวภูเก็ตนั้น เด็กรุ่นเก่าจะรู้จักชื่อการละเล่นเหล่านี้ ได้แก่ อีฉุด ทอยราว ราวเด้อ อาว่าย ขว้างโผล้ เข้นังยอง นางชี หมากขุม เตย โตก (ซ่อนหา) ฯลฯ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เคยได้ยิน หรือแทบจะไม่รู้จักการละเล่นเหล่านี้เลย เพราะขาดการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่ง และเครื่องเล่นสมัยปัจจุบันจะดึงดูดความสนใจเด็กรุ่นใหม่ได้มากกว่า ในที่นี้จะนำการละเล่นพื้นเมืองของภูเก็ตมากล่าวไว้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น
อีฉุด
อีฉุด

อีฉุด

เป็นการเล่นที่ใช้เศษกระเยื้องเป็นอุปกรณ์ ผู้เล่นกี่คนก็ได้ ถ้า 2 คนขึ้นไป ก็จะผลัดกันเล่นหรือเป็นกลุ่มก็จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม และจะมีการแข่งขันกันในระหว่างผู้เล่น แต่ถ้าเล่นคนเดียวก็จะเป็นการเล่นเพื่อสนุกสนานแก้เหงา

วิธีเล่น ก่อนเริ่มเล่นผู้เล่นจะต้องบอกข้อตกลงหรือกติกาการเล่นให้ทุกคนเข้าใจ และการตัดสินว่าใครจะเป็นผู้เล่นก่อนหรือเล่นหลัง โดยการ ลา ลา หล้า ทุมโบ้ง หรือที่เรียกในภาษากลางว่า “ชันชี” จากนั้น ผู้เล่นจะขีดเส้น และกำนหนดขอบเขตที่เล่น ผู้ที่ชนะในการ ลา ลา หล้า ทุมโบ้ง จะเริ่มเล่นก่อนโดยใช้เศษกระเบื้อง “ทอย” หรือ “โยน” เข้าไปในขอบเขตนั้น ผู้เล่นจะต้องเขย่งกระโดดขาเดียว และใช้ขาข้างที่เป็นหลักในการทรงตัวนั้น กระโดดเตะ หรือภาษาภูเก็ตเรียกว่า “ฉุด” ให้เศษกระเบื้องนั้นเคลื่อนที่ออกมาจากเขตแดนหนึ่ง ๆ จนครบ คือ ผ่านหมดทุกเขต ถือว่าชนะ ถ้าใครเสียหลักในการทรงตัวก็ถือว่าแพ้ ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นต่อไป และผู้เล่นคนใหม่ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ในการทอย และเขย่งกระโดดขาเดียว เข้าไป “ฉุด” กระเบื้อง “ทอย” ด้วยเท้าที่กำลังเขย่งกระโดดเช่นเดิม ฝ่ายใดทำสำเร็จก่อนจะเป็นผู้ชนะ

ทอยราว

เป็นการเล่นที่นิยมเล่นในกลุ่มเด็กผู้ชาย อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นได้แก่ เม็กมะม่วงหิมพานต์ที่ยังไม่ได้กะเทาะเมล็ดออก ไม้ไผ่ผ่าซีก ก้อนอิฐ

วิธีเล่น ผู้เล่นจัดเรียงเม็ดมะม่วงหิมพานต์บนไม้ไผ่ผ่าซีก ซึ่งวางให้สูงจากพื้นโดยแผ่นอิฐ กำหนดระยะสำหรับให้ผู้เล่นใช้ความแม่นยำในการเล็ง และขว้างเม็ดมะม่วงที่วางอยู่บนรางไม้ไผ่ให้หล่นจากราง โดยใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ผู้เล่นคัดเอามาใช้ขว้าง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่หล่นจากรางจะเป็นของผู้ขว้างได้ ผู้เล่นจะผลัดกันขว้างจนหมดราว เมื่อจะเล่นใหม่ก็จะนำเม็ดมะม่วงหิมพานต์มาลงกองกลางกันใหม่ เพื่อผลัดกันใช้ความแม่นยำกันอีก

เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ

เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ

สมัยก่อนชาวภูเก็ตต้องใช่วัสดุในท้องถิ่นจักทำเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนขึ้นเองหรืออาจหาซื้อจากผู้มีฝีมือในการทำเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ออกจำหน่าย ได้แก่ หม้อดินเผา กระบวยตักน้ำ ทัพพีกะลามะพร้าว กระบุงตะกร้าไม้ไผ่ กระสอบเสื่อจากใบเตย สอบมุก กล่องใส่ของกระจุกกระจิก กันหม้อที่รองก้นหม้อสานด้วยเรียวมะพร้าว เตาไฟก่อขึ้นจากดินเหนียวอัดแน่นเป็นที่รองรับก้อนเส้า สำหรับชาวภูเก็ตที่มีฐานะดีจะก่อเตาไฟด้วยอิฐถือปูน (ภูเก็ตเรียก “โพ”) เชื้อเพลิงที่ใช้ในการหุงต้ม ได้แก่ ไม้ฟืนหรือเศษไม้ที่พอหาได้ในบริเวณใกล้บ้าน ต่อมาเชื้อเพลิงที่ใช้กับเตาไฟ ได้พัฒนาจากไม้ฟืนเป็นถ่านไม้ทะเลและถ่านไม้ตอน เกิดขึ้นจากการติดต่อค้าขายกับเมืองปีนังบางครอบครัวชาวจีนถือว่า เตาไฟหรือโพ เป็นที่สำหรับหุงหาอาหารจะแสดงการลบหลู่ดูหมิ่นไม่ได้ และจะมีจะมีกาทำพิธีบูชาเตาไฟด้วย

เครื่องมือในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

เครื่องมือทำสวนมะพร้าว เช่น มีดเกี่ยวมะพร้าว มีดปอกมะพร้าว ลิงขึ้นมะพร้าว มีดพร้า จอบ และเสียม ฯลฯ

เครื่องมือทำสวยยางพารา เช่น มีดกรีดยาง ไฟส่องหน้ายาง กะลารองรับน้ำยาง ถังใส่น้ำยาง เครื่องรีดแผ่นยาง ฯลฯ

เครื่องมือทำนา เช่น ไถ คราด แกะเก็บข้าว (เครื่องมือเก็บข้าวที่ละรวง) กระเชอ กระด้ง ครกตำข้าว ครกสีข้าว ฯลฯ

เครื่องมือปลูกผัก เช่น กระบวยตักน้ำรดผัก ถังไม้ใส่ปุ๋ยคอก คราดไม้ไผ่ จอบดายหญ้า ฯลฯ

เครื่องมือเลี้ยงหมู เช่น คอกหมู ซึ่งกั้นคอกด้วยต้นมะพร้าวที่นำมาเลื่อยเป็นท่อน ๆ รางข้าวหมูซึ่งนำไม้มาขุดทำเป็นรางข้าว มีดหั่นหยวกกล้วยอาหารหมู (ลักษณะโค้งเหมือนพระจันทร์เสี้ยว มีมือถือสองข้าง) ฯลฯ

เครื่องมือประมงชายฝั่ง เช่น เรือ พาย แห เบ็ด อวน ไซ ลอบ กัด หยองตกปู ข้องใส่ปลา ฯลฯ เครื่องมือในการประกอบอาชีพร่อนแร่

ชาวภูเก็ตที่ไม่มีทุนทรัพย์พอแก่การทำเหมืองแร่ สามารถหาแร่เพื่อการยังชีพด้วยการร่อนแร่และขุดหาแร่ในบริเวณนอกเขตสัมปทานที่คาดว่ามีแหล่งแร่ หรือได้รับอนุญาตจากผู้ได้รับสัมปทานในการทำเหมืองแร่ให้ร่อนแร่ท้ายรางเหมืองสูบ ผู้ที่หาแร่ดีบุกด้วยวิธีนี้ ต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัด ให้ทำการร่อนแร่หรือขุดหาแร่นอกเขตสัมปทานได้ปีต่อปี เครื่องมือที่ใช้หาแร่แบบนี้ได้แก่ เลียงร่อนแร่ เหล็กขุด กะลาใส่แร่ หมวกกุ้ยเล้ย ผ้าโพกหัว เสียม (เหล็กแล่ง) ค้อนแบบตะขอเหล็ก ฯลฯ ปัจจุบันอาชีพนี้ยังคงมีทำกันบ้างเล็กน้อยไม่เหมือนแต่ก่อน ผู้มีทุนทรัพย์จะขอสัมปทานทำเหมือนแร่โดยใช้เครื่องจักรและว่าจ้างคนงาน (ถ้าเป็นระดับกรรมกรจะเรียกว่ากุลีเหมือง)

เหมืองแร่ดีบุกที่นิยมทำกันในสมัยก่อนมีหลายแบบ เช่น เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด เหมืองรู เป็นต้น มายุคหลังประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา กิจการเหมืองแร่ซึ่งดำเนินงานโดยชาวต่างประเทศได้หยุดชะงัก ทำให้ประชาชนบางกลุ่มตื่นตัวเรื่องการทำแร่ในทะเล และนำวิธีการแบบเรือขุดแร่ของบริษัทต่างประเทศมาใช้ คือ เครื่องจักรดูดแร่ในทะเลขึ้นมา ที่มีทุนน้อยก็ใช้วิธีดำน้ำหาแหล่งแร่ เมื่อพบก็ใช้วิธีตักขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยผู้ชำนาญในการดำน้ำ ปัจจุบันแร่ดีบุกกำลังจะหมดไป ฉะนั้นเหมืองแร่ขนาดใหญ่จึงต้องปิดกิจการ ยังคงมีการทำเหมืองแร่กันบ้าง ก็เป็นเหมืองแร่ในทะเล

ความเชื่อในท้องถิ่น

ชาวภูเก็ตมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา และสิ่งเร้นลับซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น การตั้งศาลพระภูมิ โดยมีความเชื่อว่าศาลพระภูมิเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าที่ หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “เจ้าที่เจ้าทาง” เมื่อคนภูเก็ตเข้าครอบครองดินแดนบริเวณใด ก็มักจะทำพิธีบวงสรวงเพื่อเซ่นไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นสวัสดิมงคลและคุ้มครองผู้ที่อยู่อาศัย เมื่อสร้างศาลพระภูมิเสร็จก็จะทำพิธีอันเชิญดวงวิญญาณของเจ้าที่มาสถิต และบวงสรวงด้วยอาหารคาวหวาน ซึ่งมักนิยมทำพิธีในวันเสาร์หรือวันอังคารข้างขึ้น เดือนสี่ นอกจากนี้ ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนจะบูชาเทวดา ที่เรียกว่า “ถี่กง” ซึ่งอัญเชิญไว้ที่หิ้งเล็กๆ ติดไว้ที่เสาบ้านด้านซ้ายมือของตัวบ้าน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลประการเดียวคือ เพื่อให้คุ้มครองปกปักรักษาผู้อยู่อาศัยในบ้าน
ความเชื่อในท้องถิ่น
ความเชื่อในท้องถิ่น

ชาวภูเก็ตจะมีการปฏิบัติบางอย่าง เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของลูกหลาน เช่น ชาวภูเก็ตรุ่นเก่ามักจะห้ามมิให้ลูกหลานนอนในเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ โดยอ้างว่าตะวันจะข่มดวงตา (หวันขมตา) ตอนเย็นใกล้ค่ำจะไม่ออกมานั่งนอกบ้านหรือทักสิ่งใดๆ ที่ผิดปกติ เพราะเป็นเวลาที่ผี (วิญญาณ) ออกหากิน ให้เวลานั้นผ่านไปเสียก่อนจึงออกไปได้ ห้ามนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าคนตายเท่านั้นที่หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ห้ามขานรับเมื่อมีเสียงเรียกในเวลากลางคืน (ดึกๆ ) ห้ามกินผลไม้ที่มีโจแขวนอยู่ เพราะจะทำให้ท้องป่องไม่ยุบ และจะต้องตายในที่สุด ห้ามตัดเล็บในเวลากลางคืน เพราะผีหลังกลวงจะมาเก็บเล็บไปใส่หลังให้เต็ม ห้ามจ่ายเงินในช่วงเวลารับประทานอาหารเพราะเชื่อว่า ถ้าจ่ายในช่วงนั้นจะเก็นเงินทองไม่อยู่ เสร็จธุระเรื่องการกินเสียก่อนค่อยจ่ายเงิน หญิงมีครรภ์จะต้องเอาเข็มซ่อนปลายกลัดติดชายพกไว้เมื่อเวลาเกิดจันทรุปราคา ห้ามชมเด็กว่าน่ารัก สวย ดี ให้กล่าวว่า น่าเกลียดน่าชังแทน เพราะเกรงว่าภูติผีจะมานำตัวเด็กไป เชื่อว่าเด็กตัวร้อน ร้องไห้ และสะดุ้งบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุเกิดจากวิญญาณบรรพบุรุษมาทัก ความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยากลางบ้าน ยาจากซินแส หรือยาจากการเข้าทรงของร่างทรง ในเรื่องนี้ ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ภูเก็ตก็ยังคงมีความนิยมอยู่ เช่น ไปเซียมซีขอยาจากศาลเจ้าต่างๆ เมื่อได้ชื่อยาก็จะมาเจียดยาที่ร้านขายยา บางสำนักซึ่งมีการเข้าทรงของวิญญาณต่างๆ จะมีการเตรียมยาต้มไว้ให้ผู้ป่วยอีกด้วย นอกจากนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับน้ำมนต์ของหลวงพ่อวัดฉลองที่สามารถรักษาโรคกระดูกได้เป็นอย่างดี ความศักดิ์สิทธิ์ของไม้เท้าหลวงพ่อวัดฉลองที่สามารถรักษาโรคได้ ชี้ให้ปานหรือเนื้องอกหายได้

ส่วนความเชื่อของชาวเล หรือ ชาวน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่นานจนกลายเป็นชาวภูเก็ตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นายสุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงประเพณีลอยเรือของชาวเกาะสิเหร่ว่า ประเพณีนี้เกิดจากความเสี่ยงภัยในการดำเนินชีวิตตามสภาพที่ชนกลุ่มนี้ต้องเผชิญอยู่ แม้ชาวเลจะได้สมญาว่า “เจ้าทะเล” แต่พวกเขาต้องผจญภัยในทะเลเกือบตลอดเวลา และเคยเอาชีวิตสังเวยทะเลเป็นจำนวนไม่น้อย คลื่นลมคือมัจจุราชที่ฉกาจ จึงต้องหันมาพึ่ง “พึ่ง” (ผีฟ้าพวกหนึ่งเชื่อว่าลงมาจากสวรรค์ อาศัยอยู่ในทะเล มีลักษณะเป็นดวงไฟมีสีต่างๆ ) คือ เทพเจ้าแห่งเกาะ ซึ่งเชื่อว่าอาจดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ ชาวเลจึงกระทำพิธีลอยเรือเพื่อขออำนาจเจ้าเกาะมาช่วยคุ้มครอง และขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากเกาะ เป็นความเชื่อที่เกิดเป็นนิสัยฝังลึกจนเกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ เริ่มตั้งแต่เสาะหาไม้มาต่อเรือ สลักตุ๊กตาเป็นฝีพาย การทำตุ๊กตาสะเดาะเคราะห์เท่าจำนวนสมาชิกในแต่ละครอบครัว และเข้าร่วมพิธีกรรมตามคำแนะนำของ “โต๊ะหมอ” ผู้นำในการทำพิธีลอยเรือ

ความเชื่อเรื่องการเกิดของชาวเล จะต้องจัดสิ่งของต่างๆ ใส่สอบราด (ราด หมายถึง การให้เงินตอบแทน) สำหรับตั้งราดให้แก่หมอตำแย เพื่อให้การคลอดปลอดภัย ได้แก่ ข้าวสาร 1 กระป๋องเล็ก ด้ายดิบ 1 ขด เทียน 1 เล่ม หมาก 5 คำ พลู 5 ใบ เงินแล้วแต่จะให้ ความเชื่อเรื่องการฝังศพ เมื่อฝังศพผู้ตาย 1 ศพ ต้องปลูกมะพร้าวไว้ 1 ต้น เพื่ออธิษฐานว่าบรรพบุรุษเมื่อตายไปแล้วชีวิตลูกหลานอยู่กันเป็นสุขหรือไม่ ถ้ามะพร้าวงอกงามดีแสดงว่ามีความสุข คนตาย 1 คน จะต้องใช้มะพร้าว 2 ผล ผ่าสังเวยการฝังศพ ศพของผู้ตายจะหันศีรษะไปทางทิศเหนือ เพื่อให้ตรงกันข้ามกับคนที่มีชีวิตอยู่ หลังจากไปร่วมงานศพแล้วล้างมือ ล้างเท้า ให้สะอาด มิฉะนั้นวิญญาณของผู้ตายจะมาหลอกหลอน

การแต่งกายของชาวมุสลิม

การแต่งกายของชาวมุสลิม

การแต่งกายของชาวมุสลิม
การแต่งกายของชาวมุสลิม

กลุ่มคนมุสลิม อาศัยอยู่เป็นชุมชนที่บ้านเกาะแก้ว บ้านบางเทา บ้านบ่อแร่ บ้านหมากปรก บ้านคอเอน บ้านพารา เป็นต้น อาจารย์เกษม กูสลามัต อดีตอาจารย์ใหญ่บ้านบางคู ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแหล่งที่มาของชาวมุสลิมในภูเก็ตว่า มาจากมาเลเซียและอาหรับ มุสลิมชายที่มาจากสายมาเลเซียมักสวมหมวกหนีบสีดำ มุสลิมชายที่มาจากสายอาหรับ มักสวมหมวกสีขาวในปัจจุบันไม่ค่อยสวมหมวกหนีบ เพราะชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอารเบีย ได้รับวัฒนธรรมการแต่งกายตลอดจนการสวมหมวก และนำการโพกศีรษะของผู้หญิงเข้ามาด้วย ผู้หญิวส่วนใหญ่ใช้ผ้าคลุมผม แต่งกายมิดชิด ปัจจุบันชาวไทยมุสลิมในภูเก็ตส่วนหนึ่งแต่งกายแบบสากลนิยม โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ทำงานบริษัทห้างร้านต่าง ๆ จะแต่งกายเหมือนชาวภูเก็ตทั่วไป

การแต่งกายของชาวภูเก็ตในชนบท

การแต่งกายของชาวภูเก็ตในชนบท


คนไทยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่นอกเมืองออกไป เช่น บริเวณบ้านฉลอง บ้านป่าตอง บ้านเคียน บ้านดอน บ้านสาคู อาชีพของชาวบ้านทั่วไปส่วนใหญ่ ทำสวน ทำนา ทำไร่ ร่อนแร่ ฐานะค่อนข้างยากจนหรือพอมีพอกิน จากการบอกเล่าของ นายเลียบ ชนะศึก ประธานสภาวัฒนธรรมถลางกล่าวว่า ผู้หญิงที่ค่อนข้างยากจนหรือพอมีพอกิน นิยมนุ่งโจงกระเบน คาดเข็มขัดเงินหรือเข็มขัดหนัง แล้วแต่ฐานะ ผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าดำผ้าสีทึบ หรือผ้าลายดอกพิกุล เสื้อคอกลมแขนกระบอก ไม่รัดรูปมากนัก ถ้าเป็นคนเฒ่าคนแก่ก็จะสวมสื้อหลวม ๆ (เฉพาะไปวัดไม่สวมรองเท้า ถือเชี่ยนหรือตะกร้าหมาก) ส่วนเด็กผู้หญิงจนถึงผู้หญิงสาว นิยมนุ่งผ้าถุงเป็นผ้าพื้นหรือผ้าลาย แต่เด็กผู้หญิงจะสวมเสื้อคอกระเช้า

ส่วนหญิงสาวสวมเสื้อตามสมัยนิยม ถ้าออกจากบ้านก็สวมเสื้อสามส่วนเข้ารูป ลักษณะการแต่งกายส่วนใหญ่ก็ได้รูปแบบมาจากภาคกลาง ต่อมาเมื่อคนจนได้เข้ามาในภูเก็ตมากขึ้น คนไทยส่วนหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งกายโดยรับเอาการนุ่งโสร่งปาเต๊ะมานุ่งแทนผ้าถุงเดิม แต่ลักษณะเสื้อผ้ายังคงเดม ผู้หญิงวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ นิยมกระโจมอกอยู่บ้าน สำหรับเด็ก ๆ นุ่งผ้าถุงไม่สวมเสื้อ

สำหรับคนไทยที่เป็นข้าราชการ ก็แต่งกายแบบข้าราชการในราชสำนักทุกประการคือ นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อกระดุม 5 เม็ด คอตั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการแต่งกายของแต่ละยุคสมัย เช่น รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ข้าราชการชายรุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อราชปะแตน ผู้หญิงก็นุ่งซิ่น สวมเสื้อตามแบบพระราชนิยม ข้าราชการพลเรือนไทยเปลี่ยนจากนุ่งผ้าโจงกระเบนนุ่งกางเกงแบบสากล ในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (หลังพ.ศ. 2475)

การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต

การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต

การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต
การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต

บาบ๋า เป็นชื่อที่เรียกลูกผสมที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างคนจีนกับคนไทยพื้นเมืองสำหรับลูกผสมที่เกิดจากคนจีนกับคนพื้นเมืองในมาเลเซีย จะเรียกผู้ชายว่า บาบ๋า และเรียกผู้หญิงว่า ย๋าย่า สำหรับในภูเก็ตจะเรียกว่าพวก บาบ๋า ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

การแต่งกายของผู้หญิงบาบ๋าในภูเก็ตนั้นมีวิวัฒนาการการแต่งกายดังนี้ ในสมัยเริ่มแรก ผู้หญิงบาบ๋านิยมแต่งกายด้วยชุดครุย เสื้อครุย มาเลเซียเรียกว่า บาจู บันจัง (Baju Panjang) เป็นเสื้อคลุมยาวครึ่งน่อง ทำด้วยผ้าป่านรูเบีย ผ้าฝ้าย หรือผ้าต่วนนิ่ม ๆ มีสีสันที่หลากหลาย สวมทับเสื้อสั้นคอตั้งสีขาว แขนยาว ตัวเสื้อมีกระดุม 5 เม็ด และกระดุมปลายแขนอีก 2 เม็ด ทำด้วยทองเรียกว่ากระดุมกินตู้น นุ่งโสร่งปาเต๊ะเครื่องแต่งกายชุดนี้นิยมแต่งในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ทรงผมนิยมทำผมแบบเกล้ามวยสูงหรือเรียกว่า เกล้ามวยชักอีโบย คือ ดึงผมด้านหน้าตึงเรียบ ด้านข้างโป่งออก 2 ข้าง เรียกว่า อีเปง ประดับมวยด้วยดอกไม้ไหว ปักด้วยปิ่นปักผมทองคำหรือนากปน

ในสมัยต่อมา ผู้หญิงบาบ๋าเปลี่ยนแปลงเสื้อเป็นเสื้อแบบ ยอย่า มาเลเซียเรียกว่า เคบายา (Kabaya) หรือที่นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปั่วตึ่งเต้ เป็นเสื้อสั้น ยาวประมาณสะโพก ไม่เข้ารูปจนเกินไป สวมชั้นเดียว ไม่มีเสื้อตัวในเหมือนชุดครุย เสื้อแบบนี้ในระยะแรกนิยมใช้ผ้าลูกไม้ต่อชายเสื้อและปลายแขน (Kabaya Renda) ระยะต่อมาใช้ลายฉลุชายเสื้อและปลายแขนแทนผ้าลูกไม้ (Kabaya Biku) และนิยมฉลุมากขึ้นไม่เฉพาะที่ชายเสื้อและริมปลายแขนเสื้อจะตัดเข้ารูปมากขึ้น

เครื่องประดับ ในระยะแรกยังคงนิยมใช้เข็มกลัดชุดที่เรียกว่า โกสัง ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการเป็นเข็มกลัดชุดแบบต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าชุดโกสัง เป็นรูปดอกไม้ใบไม้และรูปสัตว์ต่าง ๆ สวมกำไลข้อเท้า สวมรองเท้าแตะลูกปัด

สำหรับผู้ชาย จะแต่งกายแบบสากล สวมสูท ผูกเนคไทด์ รองเท้าหนัง

ทรงผม เป็นแบบทรงลานบิน (สีกั๊กท่าว) ตัดหางเปีย หรือทรงรองทรง เมื่อแต่งอยู่กับบ้าน นิยมสวมกางเกงขายาวหรือสั้น สวมเสื้อเชิ้ตหรืออาจเป็นเสื้อยืดคอกลม การแต่งกายของเด็ก เด็กผู้หญิงวัยรุ่นนิยมนุ่งกางเกงชุดเซี่งไฮ้ และ ตึงผ่าว (ชุดยาว) เต่ผ่าว (ชุดสั้น) ส่วนเด็กผู้ชายเล็ก ๆ ตอนกลางวันมักไม่นิยมสวมเสื้อผ้า นิยมเพียงผ้าคาดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม 1 ชั้น เรียกว่า ต้อ และแขวนลูกไข่ทองหรือเงิน เป็นสร้อยกระพรวนหรือเงินคาดสะเอวเด็ก สำหรับเด็กหญิงนิยมใส่ ปิ้ง (จับปิ้ง) ทำด้วยทองหรือเงิน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การแต่งกายแบบดั้งเดิมหมดไป ความเชื่อและค่านิยมเก่าๆ ค่อยเลือนหายไปจากสังคมชาวภูเก็ต ดังจะเห็นจากวัฒนธรรมการตั้งชื่อของชาวภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีน (Baba) ซึ่งจะต้องมีชื่อจีนทุกคน และใช้ชื่อนี้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เช่น เมื่อมีลูกผู้หญิงจะนิยมตั้งชื่อว่า บี้โง้ย บี้ห้าย สอจิ้น สอหงีม สอฉิ้ว ลูกผู้ชายก็จะชื่อ เช่งโป้ ฮวดหลาย เฉ่งบ่าน ฮกฮวด ฯลฯ และนามสกุลก็จะเป็นแซ่ปัจจุบันยังคงความเป้นจีนบ้าง โดยใช้ชื่อจีนที่บ้าน ที่โรงเรียนใช้ชื่อไทยและนามสกุลแบบไทยมากขึ้น จนปัจจุบันจะหาคนชื่อจีนนามสกุลจีนยากมากในสังคมภูเก็ต ยกวเน่ชาวภูเก็ตที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจจะยังเรียกชื่อจีนอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากคติชาตินิยม สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลูกต่างด้าวเสียสิทธิในการประกอบอาชีพ และผลประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนมาเป็นไทยทั้งชื่อและนามสกุลแต่บางคนยังคงนามสกุลเดิมไว้บ้าง เช่น ลิ่มสกุล เอี๋ยวพานทอง เป็นต้น เพื่อจะได้ทราบแซ่เดิมของตน

นอกจากนี้เนื่องจากการคมนาคมกับกรุงเทพฯสะดวกขึ้น ก็มีการโอนสัญชาติมาเป็นไทย เพื่อจะได้สิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนไทย การแต่งกายก็เป็นแบบสากลไปทั้งหมด อิทธิพลวัฒนธรรมจากภาคกลางเข้ามาแทนวัฒนธรรมจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ค่านิยมการส่งลูกไปเรียนที่ปีนังค่อย ๆ หมดไป คนภูเก็ตส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯแทนเกือบทุกบ้านนิยมให้ลูกหญิงลูกชายได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของบรรพบุรุษชาวจีนที่ว่า ผู้หญิงเรียนไปก็ไม่มีโยชน์ ดังนั้นลักษณะการแต่งกายแบบสากล และไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของคนกลุ่มอื่น ๆ กับคนไทยได้สะดวกนัก

กลุ่มคนไทย จัดได้ว่าเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เมื่อคนจีนจำนวนมากได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านทุ่งคา และที่อำเภอกะทู้ กลุ่มคนไทยก็ปะปนอยู่ในกลุ่มคนจีนเหล่านั้น แต่ไม่ค่อยมีบทบาทในสังคมเศรษฐกิจมากนัก เพราะคนจีนส่วนใหญ่มีฐานะดี สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่า และมีวัฒนธรรมที่แข็งกว่าบทบาทของคนไทยในภูเก็ตจึงมีน้อย ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงการแต่งกายในภูเก็ต ทุกคนจึงมองภาพเฉพาะชุดของชาวจีนมากกว่าคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิม

การแต่งกายของชาวจีนในภูเก็ต

การแต่งกายของชาวจีนในภูเก็ต
แต่งกายของชาวจีนในภูเก็ต
แต่งกายของชาวจีนในภูเก็ต

ผู้หญิงจะแต่งกายเหมือนผู้หญิงจีนมาก คือ นุ่งกางเกงแพรสีดำ เสื้อคอจีนป้ายข้างกระดุมขัดทำด้วยผ้า (กระดุมป้อหลิว) สวมกำไลหยก มีบางคนที่เคร่งครัดต่อประเพณีจีนมาก ก็จะผูกเท้าให้เล็ก ชาวภูเก็ตเรียกว่า ตีนตุก พิธีแต่งงานเจ้าสาวยังคลุมหน้าแบบจีนโบราณ

ผู้ชายจีนในสมัยแรก ยังนิยมไว้ผมเปียยาวแบบชาวแมนจู สวมเสื้อหลวม ๆ สีดำคลุมทับเสื้อยืดคอกลมสีขาว (เสื้อย่น) บางคนนิยมสวมเสื้อคลุมยาว กางเกงนิยมสวมกางเกงจีนหลวม ๆ

วัฒนธรรมการแต่งกายภูเก็ต

วัฒนธรรมการแต่งกายภูเก็ต

วัฒนธรรมการแต่งกายภูเก็ต
วัฒนธรรมการแต่งกายภูเก็ต

เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งจูงใจให้คนในภูมิภาคต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง ฉะนั้นจังหวัดภูเก็ตจึงเป็นพหุสังคม มีวัฒนธรรมผสมผสานในหลายรูปแบบ แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่มีปัญหาระหว่างกลุ่มชนทุกคนต่างก็ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาภูเก็ตให้เจริญก้าวหน้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้

เนื่องมาจากความหลากหลายของกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต ทำให้วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะพื้นฐานดั้งเดิมของชนกลุ่มนั้น เช่น กลุ่มชนชาวจีนที่อาศัยบริเวณถนนถลาง บางเหนียว และที่อำเภอกะทู้ กลุ่มชาวจีนบริเวณนี้จะมีวิถีชีวิตแบบคนจีน มีภาษาพูด มีประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาวจีนโดยเฉพาะ

กลุ่มชาวไทยพุทธ อาศัยกระจัดกระจายออกไปนอกตัวเมือง ปะปนอยู่ในหมู่คนจีนบ้างและที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นพวก เช่น คนไทยที่บ้านตะเคียน บ้านดอน บ้านพอน บ้านสาคูและบ้านเหรียง เป็นต้น

ชาวไทยมุสลิม อาศัยอยู่ริมทะเล บริเวณอ่าวมะขาว บ้านกมลา บ้านบางเทา บ้านคอเอน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบริเวณบ้านราไวย์ และเกาะสิเหร่ ฉะนั้นการศึกษาถึงลักษณะการแต่งกายของชาวภูเก็ตจะเป็นในรูปแบบใด ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเพียงอย่างเดียวนั้น คงจะเป็นการยากที่จะเจาะจงลงไป หากกำหนดการแต่งกายของชาวภูเก็ต จะต้องนำเอาการแต่งกายของกลุ่มคนชาวภูเก็ตมาประยุกต์เป็นแบบใหม่ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

ความเป็นมาของการแต่งกายชาวภูเก็ต ซึ่งจำแนกตามกลุ่มคนที่เข้ามาตั่งถิ่นฐานได้ดังนี้

กลุ่มชาวจีน กลุ่มแรกนั้นเป็นจีนโพ้นทะเลซึ่งอพยพมาจากประเทศจีนทางตอนใต้นื่องจากความแห้งแล้งจากภัยธรรมชาติ และสงครามกลางเมืองจีน (ราวปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19) ชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ออกมาแสวงโชค ส่วนชาวจีนที่เข้ามาทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนจากเมืองเอ้หมึง มาตั้งถิ่นฐานบริเวณภูเก็ต ตรัง ระนอง เข้ามาในฐานะกุลีรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นกุลีเหมือง บ้างก็ประกอบอาชีพประมง การแต่งกายในยุคนี้ก็เป็นการแต่งกายของชาวจีนเหมืองทั่วไป โดยใช้เสื้อผ้าสีดำ หรือน้ำเงินแก่ เนื้อหยาบ เรียก “ผ้าต่ายเสง” เนื่องจากชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย เมื่อมีที่อยู่มั่นคงขึ้น ส่วนหนึ่งจึงสมรสกับผู้หญิงไทยในภูเก็ต บ้างก็เดินทางไปรับครอบครัวมาจากเมืองจีนมาตั้งถิ่นฐานถาวรในภูเก็ต

บ้านเรือนแบบชิโน-โปรตุกีส

บ้านเรือนแบบชิโน-โปรตุกีส


ชิโน หมายถึง จีน โปตุเกส หมายถึง โปตุเกส การที่เรียกชื่อลักษณะบ้านแบบนี้ เพราะรูปแบบการสร้างบ้านตามแบบตะวันตก แต่สิ่งตกแต่งภายในเป็นแบบจีน บ้านแบบนี้เป็นบ้านของชาวจีนในภูเก็ตที่อพยพมาจากปีนัง หรือเรียกว่า โคโลเนียนสไตล์ หรือ สไตน์อาณานิคม เพราะเป็นลักษณะวัฒนธรรมการสร้างบ้านของอังกฤษที่นำมาใช้ในอาณานิคม ใช้วัสดุราคาแพง และบางครั้งต้องสั่งวัสดุมาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศอิตาลี ส่วนใหญ่เป็นบ้านของนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปติดต่อค้าขายกับปีนัง ในสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างภูเก็ต-กรุงเทพฯ ไม่สะดวก มีความยากลำบากมาก การติดต่อค้าขายกับปีนังจะสะดวกกว่า และพอใจลักษณะบ้านที่นิยมปลูกกันมากในปีนัง จึงนำรูปแบบมาสร้างบ้านของตนเองในภูเก็ต ลักษณะบ้านที่สร้างในภูเก็ตที่ 2 แบบคือ แบบเป็นอาคารเดี่ยวๆ เรียกว่า อั้งม่อหลาว และ อาคารแบบห้องแถว บริเวณถนนถลาง ถนนพังงา ถนนดีบุก อาคารแบบห้องแถวจะเป็นตึกแถว 2 ชั้น ด้านหน้าของตึกชั้นล่างจะมีทางเดินต่อเนื่องถึงกันโดยตลอด นับเป็นทางเท้าที่เป็นลักษณะเด่นของอาคารแบบนี้เรียกว่า “หง่อกากี่” เป็นทางเดินที่กันแดด กันฝน ได้เป็นอย่างดี ถนนถลางจึงถูกจัดไว้เป็นถนนสายวัฒนธรรม

ลักษณะบ้านแบบนี้เป็นแบบผสมระหว่างสถาปัตยกรรมจีนกับสถาปัตยกรรมโปตุเกส คือแปลนอาคารภายใน แบ่งออกเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงจะมีช่องสำหรับให้แสงสว่างตามธรรมชาติส่องลงมาได้ (ภูเก็ตเรียก “ฉิ่มแจ้”) ช่วยให้มีอากาศหมุนเวียนภายในอาคาร โครงสร้างเป็นตึกก่ออิฐหรือเทคอนกรีตแบบยุโรป มีหน้าต่างหรือเฉลียงยื่นออกมาจากตัวบ้าน กรุบานหน้าต่างหรือประตูกระจกสี มีการตกแต่งลวดลายตามขอบประตู และหน้าต่าง หัวเสามีลักษณะเป็นเสาแบบยุโรป คือ ลักษณะเสาแบบ ดอริค (Doric) และ โครินเธียน (Corinthian) ระหว่างเสาจะมีลักษณะเป็นประตูโค้งแบบโรมัน ด้านหน้าจะประดับด้วยลายปูนปั้นแบบจีน กระเบื้องปูพื้นเป็นกระเบื้องแบบฝรั่ง แต่หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบทรงกระบอกผ่าซีก

บ้านเรือนแบบจีน

บ้านเรือนแบบจีน


บ้านเรือนแบบจีนสร้างด้วยดิน เรียกว่า ตึกดินหรือกว้านดิน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทำด้วยดินหรือดินเผา ดินที่ใช้ในการสร้างบ้านเรือนแบบนี้ นัยว่าเป็นดินที่ผสมด้วยวัสดุบางอย่างเพื่อให้มีคุณสมบัติเกาะยึดแน่น ไม่เปราะ และไม่ผุพังง่ายชาวจีนใช้ดินผสมนี้อัดกระทุ้งให้เรียบสนิท เสริมให้สูงขึ้นจากพื้นจนเป็นรูปกำแพง และใช้เป็นฝาผนังบ้านทั้งสี่ด้าน มีประตู หน้าต่าง ใช้ไม้แก่นเนื้อแข็งเป็นวงกบประตู หน้าต่างและบานประตู หากเป็นบ้านสองชั้นจะใช้ไม้เป็นคาน รอด และปูพื้น ส่วนหลังคาจะวางขื่นแป และจันทันด้วยไม้โกงกางหรือไม้แสม หลังคาจะมุงกระเบื้องราง ซึ่งมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมทำด้วยดินเผา บ้านเรือนแบบนี้ส่วนมากเป็นเรือนชั้นเดียว หรือชั้นครึ่งเท่านั้น เพราะเสี่ยงต่อการพังทลายได้ง่าย บ้านแบบนี้หาดูได้จากบ้านบริเวณแถวน้ำ บริเวณบางเหนียว และตึกแถวในตลาดอำเภอกะทู้

บ้านจีนอีกประเภทหนึ่งเป็นบ้านไม้ หลังคามุงด้วยจาก โครงสร้างของหลังคาเป็นจั่วแหลมแล้วค่อยลาดลง เป็นลักษณะหลังคาที่เหมาะกับเมืองที่อยู่ในเขตร้อนชื้นฝนตกชุก พื้นบ้านเป็นดินอัดแน่น สร้างอยู่ในแนวเดียวกันคล้ายบ้านจีนแบบห้องแถว บ้านจีนในลักษณะนี้พบที่บ้านตีนเล (บ้านเชิงทะเล) บ้านในทู (บ้านกะทู้) ปัจจุบันบ้านลักษณะนี้หาดูได้ยาก เพราะบ้านไม้หลังคาจากไม่คงทนถาวร เจ้าของจึงนิยมเปลี่ยนเป็นบ้านตามสมัยนิยม

บ้านเรือนแบบไทย

บ้านเรือนแบบไทย


บ้านเรือนแบบไทยของชาวภูเก็ต สร้างโดยวางเสาบ้านทุกเสาลงบนแท่งหิน หรือแท่งซีเมนต์ไว้เป็นตีนเสา แล้ววางขื่อ แป คาน บังคับไว้ให้ตั้งเข้ารูป แล้วขึ้นใบดั้ง วางจันทัน แปลาน และเครื่องประกอบอื่นๆ ได้แก่ ตง รอด ระแนง จนกระทั่งมุงหลังคา ปูกระดาน กั้นฝา เครื่องเรือนเหล่านี้จะยึดโยงกันเอง สามารถทรงตัวเรือนทั้งหมดไว้ด้วยแรงถ่วงต่างๆ ที่เกิดอย่างอัตโนมัติโดยไม่เสียทรง หรือพังเสียหายเมื่อมีพายุ ฝาเรือนเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ ไม่นิยมเจาะหน้าต่าง แต่เจาะช่องเล็กๆ แทน เพื่อระบายอากาศชาวภูเก็ตนิยมปลูกบ้านเตี้ยๆ บนพื้นดิน ถ้าเป็นบ้านมีใต้ถุนก็ไม่นิยมใต้ถุนสูงมากนัก หลังคานิยมมุงด้วยจากหรือใบมะพร้าว บ้านแบบนี้พบเห็นตามหมู่บ้านนอกเมือง เช่น บ้านฉลอง บ้านดอน บ้านในทอน บ้านพรุจำปา เป็นต้น

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลามเข้ามาในภูเก็ตเมื่อใดไม่ปรากฏชัดเจน เพียงแต่ปรากฏในพงศาวดารเมืองถลางบันทึกว่า

เมืองถลางแต่ก่อน จอมร้างบ้านตะเคียนเป็นเจ้าเมือง เมียจอมร้าง เป็นแขกมาจากเมืองไทร ชื่อหม่าเสี้ย ลูกมหุ่มเฒ่า

จากข้อความนี้ อาจจะสันนิษฐานได้ว่าศาสนาอิสลามเข้ามาสู่ภูเก็ตโดยการอพยพย้ายถิ่น นายเกษม กูสลามัต อดีตครูใหญ่บ้านบางคูได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า ชาวไทยมุสลิมในภูเก็ตนั้นมาจาก 2 สาย คือ สายมาเลเซีย สังเกตจากผู้ชายจะนิยมสวมหมวกหนีบสีดำอีกพวกหนึ่งมาจากอาหรับ ผู้ชายนิยมสวมหมวกสีขาว (ปีเยาะห์) ปัจจุบันความนิยมสวมหมวกหนีบหมดไป เพราะเมื่อชาวมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจจย์ที่ประเทศซาอุดิอารเบีย ทุกคนรับวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันออกกลางมาใช้

ศาสนาสิกข์

ศาสนาสิกข์

ศาสนาสิกข์ภูเก็ต
ศาสนาสิกข์

ชาวสิกข์ในภูเก็ตเข้ามาประมาณ 70-80 ปีมาแล้ว ครั้งแรกเข้ามาอยู่ที่ปีนังแล้วค่อยอพยพเข้าสู่ภูเก็ต ในระยะแรกมีเพียง 10 คน เข้ามาขายผ้าบริเวณถนนถลางย่านธุรกิจดั้งเดิมของภูเก็ตและได้จัดตั้ง วัดสิกข์ “คุรุทวารา” ที่ถนนสุทัศน์ มีผู้นำชาวสิกข์คือ นาย จี. ซิงห์ ชาวสิกข์ในภูเก็ตจะทำมาหากินอย่างสงบ และช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในจังหวัดภูเก็ต

ศาสนาฮินดู

ศาสนาฮินดู

ศาสนาฮินดูในภูเก็ต
ศาสนาฮินดู

สำหรับ ชาวอินเดีย ที่อพยพเข้าตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นชนผิวดำจากรัฐทางตอนใต้ เช่น รัฐทมิฬนาดู รัฐมัทราส และ บริเวณอ่าวเบงกอลคือบังกลาเทศในปัจจุบัน จากคำบอกเล่าของ นายเอ็ม วี ลู (นายห้างไพรัช สโตร์) ประธานมูลนิธิภูเก็ตตันดายูดาปานี ได้เล่าว่า ชาวอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตประมาณปี ค.ศ.1940 เป็นกลุ่มเล็ก ๆ มาจากอินเดียโดยตรง อีกส่วนหนึ่งมาจากมาเลเซีย การนับถือศาสนาฮินดูในภูเก็ต นับถือกันเฉพาะคนฮินดูเท่านั้น เมื่อมีการอพยพผู้คนเข้ามามากขึ้นจึงจัดให้มีวัดฮินดูบริเวณแถวน้ำ (ถนนเทพกระษัตรี) เป็นห้องแถวไม้ ต่อมาชาวฮินดูได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อสร้างวัดแห่งใหม่ที่กว้างขวางกว่าเดิม นายจินนายา เจ๊ะตี ผู้ประกอบอาชีพเงินกู้และรับซื้อเศษเหล็ก มีฐานะดี เป็ยผู้ที่ทั้งชาวอินเดียและชาวภูเก็ตไว้วางใจในการนำเงินมาฝากและขอกู้เงิน ในสมัยนั้นการธนาคารในภูเก็ตไม่แพร่หลาย มีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เพียงแห่งเดียว เงินจำนวนหนึ่งของนายจินนายารวมกับเงินบริจาคได้นำไปซื้อที่ดินบริเวณถนนสุทัศน์ เป็นสถานที่สร้างวัดฮินดูตันดายูดาปานีในปัจจุบัน วัดฮินดูแห่งนี้นับถือ พระพิฆเนศ,พระขันฑกุมาร,พระลักษมี

ชาวฮินดูในภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นลูกผสมที่เกิดจากแม่ที่เป็นคนท้องถิ่น ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศาสนาฮินดูมานัก ส่วนมหญ่จะหันมานับถือศาสนาพุทธมากขึ้น ทำให้ขาดผู้สืบทอด ไม่สามารถอ่านคัมภีร์ทางศาสนาได้ ความซาบซึ้งในศาสนาพุทธลดลง ประธานมูลนิธิคือ นายเอ็ม วี ลู เป็นผู้นำสวดและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตลอดจนให้ความอุปการะแก่วัดมาโดยตลอด

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์ในภูเก็ต
ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์ในภูเก็ต มีทั้งผู้ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์สำหรับศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ในภูเก็ตนั้น เริ่มจากมิชชั่นนารีจากมาเลเซียเข้ามาในภูเก็ตราว ค.ศ.1871 และใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนในการสอนศาสนา หลังจากนั้นประมาณ ปี มิชชั่นนารีชื่อ วิลเลี่ยม เมค โดนัล (William Mac Donal) และ ฟิลิป เจ. ฮอคการ์ด (Philip J. Hocqquard) ได้เดินทางจากปีนังเข้าสู่ภูเก็ต ขณะนั้น มีผู้นับถือศาสนาคริสต์ในภูเก็ตมีเพียง 8 คน และมิชชั่นนารีทั้งสองได้ประกอบพิธีศีลมหาสนิทให้แก่ชาวภูเก็ตเหล่านั้น อ๋องหิ้น (Ong Hin) เป็นผู้หนึ่งที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอย่างยิ่งเขาได้รวบรวมเงินจากการขายขนมซื้อบ้านที่ถลาง 1 หลัง ในปี ค.ศ.1889 คือ บ้านเลขที่ 24 เพื่อเป็นสถานที่พบปะของคริสต์ศาสนิกชน และเป็นที่เผยแพร่ประกาศข่าวประเสริฐของพระผู้เป็นเจ้า สถานที่นี้ยังเป็นสถานที่สำหรับสวดมนต์ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจนถึงปัจจุบัน คือ คริสต์เตียนสถานถนนถลางในปัจจุบัน ขณะนี้ชาวภูเก็ตที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายนี้เพิ่มมากขึ้น และขยายโบสถ์ออกไปหลายแห่งในภูเก็ต เช่น โบสถ์คริสตจักรภูเก็ต ถนนเจ้าฟ้า หรือเรียกว่า “คริสตจักร (ท่าแครง) ภูเก็ต”

ส่วนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนั้น ได้เผยแพร่เข้ามาในภูเก็ตตั้งแต่ สมัยอยุธยา จากการนำเข้ามาของชาวโปรตุเกส โดยเฉพาะสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพ่อค้าชาวฝรั่งเศสมาตั้งห้างค้าดีบุกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับพระองค์ให้อิสระในการนับถือศาสนา จึงมีมิชชั่นนารีหมุนเวียนเข้ามาเผยแพร่ศาสนาเป็นจำนวนมากในภูเก็ต แต่การเผยแพร่ศาสนาในระยะแรกนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน หลักฐานอ้างอิงในการเผยแพร่ศาสนาในภูเก็ตปรากฏชัดเจนประมาณ ค.ศ.1935-1945 พระสงฆ์คณะซาเลเซียน โดย คุณพ่อมารีโอ รูเช็ดดู ได้เข้ามาฟื้นฟูและรวบรวมคริสตศาสนิกชนในจังหวัดภูเก็ตให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนอีกครั้งหนึ่ง คุณพ่อมารีโอ รูเช็ดดู ได้ให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาแก่นักศึกษา 2 คนคือ นายฟรังซีสกิจจา อนิวรรตน์ และ นายทวี อนิวรรตน์ ทั้งคู่เป็นบุตรของขุนแถลงภาษา (นายแถลง อนิสรรตน์ บันทึกของพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต) ต่อมาเมื่อคณะสงฆ์ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนามีจำนวนมากขึ้นจึงได้จัดซื้อที่ดินเหมืองเก่าเพื่อสร้างเป็นโบสถ์และโรงเรียน คือโรงเรียนดาวรุ่งวิทยาในปัจจุบัน เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1954 และได้สร้างโบสถ์ใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1957 ชื่อว่า โบสถ์นักบุญฟรังซีส เซเวียร์ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น โบสแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ตั้งอยู่ที่ซอยตลิ่งชันจนถึงทุกวันนี้

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธ

ในด้านพระพุทธศาสนา ตามข้อสันนิษฐานของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า พระพุทธศาสนาประดิษฐานในประเทศไทยราวปี พ.ศ.500 อาณาจักรแรกที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา คือ อาณาจักรทวาราวดี ชนพื้นเมืองที่ยอมรับนับถือศาสนานี้ คือ ขอม มอญ ละว้า ส่วนดินแดนทางภาคใต้นั้น ในระยะที่อาณาจักรศรีวิชัยเรืองอำนาจ ราวปี พ.ศ.1300 ได้เข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ และได้นำเอาพระพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามาเผยแพร่ หลักฐานคือ พระบรมธาตุไชยาและพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะศรีวิชัยมาก่อน ต่อมาในราว พ.ศ.1800  ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย พระภิกษุไทยซึ่งได้รับการศึกษาจากประเทศลังกาได้กลับมาเผยแผ่ศาสนาพุทธหินยาน และได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ครอบเจดีย์สมัยศรีวิชัย ซึ่งเป็นสถูปแบบลังกา พระพุทธศาสนาหินยานเจริญรุ่งเรืองในดินแดนภาคใต้อย่างรวดเร็ว จนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่นครศรีธรรมราช จึงได้อารธนาพระเถระจากนครศรีธรรมราชไปเผยแผ่ศาสนาที่กรุงสุโขทัย

สำหรับจังหวัดภูเก็ต ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองนั้น ชาวภูเก็ตรุ่นแรก ๆ คงนับถือเทพ นับถือผี วิญญาณ เวทมนต์คาถา มาก่อน ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนนี้ ชาวพื้นเมืองจึงนำความเชื่อของศาสนาพุทธผสมผสานกับความเชื่อเดิม ฉะนั้น ชาวพุทธในภูเก็ต จึงมรความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของพระนารายณ์ พระพรหม พระอิศวร ในขณะเดียวกันก็นับถือเซียนองค์ต่าง ๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไปวัดเมื่อถึงเทศกาลหรือประเพณีสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา หิ้งพระของชาวภูเก็ตจึงประกอบด้วยพระพุทธรูปปุ้นเถ้ากง เซียนองค์สำคัญที่ตนนับถือ เจ้าแม่กวนอิม จะเป็นเช่นนี้ทุกบ้าน ยกเว้นบ้านที่เป็นคนไทยแท้จึงจะมีพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว

ศาสนา

ศาสนา

ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่นับถือศาสนพุทธ รองลงมาคือศาสนาอิสลาม มีการนับถือศาสนาอื่น ๆ อีกเล็กน้อย เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาสิกข์ และฮินดู การนับถือศาสนาของชาวภูเก็ต นับถือตามบรรพบุรุษ การนับถือศาสนาที่ต่างกัน ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง แต่สามารถมองเห็นความแตกต่างจากวัฒนธรรม การแต่งกาย การใช้ภาษา และลักษณะทางสรีรวิทยา ชาวภูเก็ตที่นับถือศาสนาพุทธ จะปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวพุทธทั่วไปในประเทศไทย ส่วนชาวพุทธที่มีเชื้อสายจีน ก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกันกับชาวพุทธเชื้อสายไทย เพียงแต่มีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับประเพณีจีนที่แตกต่างกันออกไป เช่น งานพ้อต่อ เช็งเหม็ง การบูชาบรรพบุรุษ การบูชารูปเซียนองค์ต่าง ๆ ที่หน้าบ้านคู่กับพระพุทธรูป เพื่อขจัดปัดเป่าภัยอันตรายต่าง ๆ

การตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต

การตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต

การตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต
การตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต

นายพรชัย สุจิตต์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในภูเก็ต ในงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลางในปี พ.ศ.2527 ว่า “น่าเสียดายที่เราไม่พบแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ บนเกาะนี้”

การพบร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นการแสดงถึงการเริ่มถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่ดินแดนนี้ ร่องรอยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในละแวกนี้ จะพบบริเวณอ่าวพังงา เช่นภาพเขียนสีที่เขาเขียน ภาพเรือไวกิ้งที่ถ้ำไวกิ้ง ภาพเขียนสีที่ถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่ และโครงกระดูกที่ถ้ำหลังโรงเรียน ตำบลทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ การที่นักโบราณคดีไม่พบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อาจจะเป็นเพราะจังหวัดภูเก็ตตั้งอยู่ด้านนอกของชายฝั่งทะเล คลื่นลมมรสุมพายุรุนแรงกว่าจังหวัดใกล้เคียง ไม่เหมาะที่จะตั้งถิ่นฐาน ประกอบกับลักษณะทางธรณีวิทยาของขังหวัดภูเก็ต เป็นหินแกรนิต ไม่ใช่หินปูน การเกิดโพรงถ้ำเหมาะที่จะเป็นที่อาศัยหลบลมจึงมีน้อยซึ่งแตกต่างจากจังหวัดพังงา บริเวณที่พบหลักฐาน มักจะเป็นโพรงถ้ำหินปูน ลักษณะภูมิประเทศเป็นอ่าว กำบังลมพายุในหน้ามรสุมได้ดี

ภูเก็ตเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่อดีต ในฐานะเมืองค้าดีบุก นอกจากนี้เกาะภูเก็ตยังใช้เป็นที่พักแวะจอดเรือเพื่อหาอาหารและน้ำจืด และเป็นที่กำบังลมพายุ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งด้านทะเลตะวันออกของเกาะ เช่น อ่าวฉลอง อ่าวภูเก็ต อ่าวมะขาม นอกจากนี้ภูเก็ตยังอุดมไปด้วยแร่ดีบุก ด้วยสาเหตุดังกล่าว ภูเก็ตจึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐานเพียงระยะหนึ่งของบุคคลหลายเชื้อชาติหลายภาษาเท่านั้น จะเห็นได้จากเจ้าเมืองที่เข้ามาปกครองภูเก็ต มีทั้งฝรั่ง จีน แขก ทุกเชื้อชาติที่เข้ามาอยู่ในภูเก็ตต่างก็มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง วัฒนธรรมเหล่านี้ได้สืบทอดถ่ายเทสู่กลุ่มคนในภูเก็ตหลายยุคหลายสมัย จนทำให้วัฒนธรรมภูเก็ต เป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสาน ในหลายๆ รูปแบบ จนถึงปัจจุบัน

ความเป็นมาของชาวภูเก็ต

ความเป็นมาของชาวภูเก็ต

ความเป็นมาของชาวภูเก็ต
ความเป็นมาของชาวภูเก็ต

ผู้คนในภูเก็ตแต่เดิมนั้น สันนิษฐานว่า เป็นชาวป่าดงเช่นเดียวกับผู้คนในภาคใต้โดยทั่วไป อันประกอบด้วยพวก “กาฮาซี” ซึ่งมีผิวเนื้อดำ ตาโปนขาว ผมหยิก ร่างกายสูงใหญ่ ใบหน้ามน ฟังแหลม ชอบกินคนและสัตว์เป็นอาหาร (นายประสิทธิ ชิณการณ์ อ้างถึงการค้นคว้าของ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ในหนังสือสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง) ชนพื้นเมืองดังกล่าวประกอบด้วย

พวกซาไก ผมหยิก ตาโปนขาว ริมฝีปากหนา ชอบล่าสัตว์ กินผลไม้เป็นอาหาร ไม่ดุร้าย

พวกเซียมัง คล้ายซาไก ชอบอาศัยอยู่บนภูเขาสูง

พวกโอรังลาโอด เป็นพวกที่ชอบอยู่ตามเกาะริมทะเล ใช้เรือเป็นพาหนะ ไม่ชอบอยู่บนบก เรียกว่า “ชาวน้ำ” หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า “ชาวเล” กลุ่มชนพวกโอรังลาโอดพวกนี้ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา และได้อพยพโยกย้ายไปอยู่ตามเกาะต่างๆ ริมฝั่งทะเลอันดามันตลอดเวลา จนได้ชื่อว่าผู้เร่ร่อนแห่งท้องทะเล (Sea Gypsy) ปัจจุบันยังคงมีชาวเลหลงเหลืออยู่ตามชายหาดของเกาะภูเก็ตหลายกลุ่ม เช่น บริเวณหาดราไวย์ แหลมกา เกาะสิเหร่ อ่าวสะปำ บ้านเหนือ และแหลมหลา (บ้านไม้ขาว) เป็นกลุ่มเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ชาวเลยังเป็นพวกเดียวที่ยังอาศัยอยู่ในภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน แต่วิถีชีวิต ค่านิยม และความเชื่อของชาวเลเปลี่ยนไปเพราะความเจริญ และวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงทำให้เป็นชาวเลยุคใหม่ เช่น การนับถือศาสนา การประกอบอาชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีชนชาติมอญที่เข้ามาอาศัยในภูเก็ต เช่นเดียวกับพวกอินเดียและพม่า เพราะลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีลักษณะเช่นเดียวกันกับชาวมอญที่มะริด โดยเฉพาะบ้านเรือนของคนไทยเชื้อสายผู้ดีในภูเก็ต และบ้านเรือนของชาวมุสลิมที่อาศัยตามชายทะเล นอกจากนี้วัดฉลอง (วัดไชยธาราราม) ยังมีเสาธงที่ประดับด้วยรูปหงส์ตามประเพณีมอญปรากฏอยู่ที่หน้าวัดมาตั้งแต่โบราณ เพิ่งมาถูกฟ้าผ่าทำลายลงเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้วแม้จะปรากฏหลักฐานว่า มีกลุ่มคนหลายชาติหลายภาษาเข้ามาอยู่ในภูเก็ต แต่ไม่มีหลักฐานทางศาสนาและสถานที่สำคัญเหมือนที่นครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพราะภูเก็ตเป็นเมืองเล็กๆ เหมาะที่จะแวะพักชั่วคราวเพื่อขุดหาแร่ดีบุก ซ่อมแซมเรือ และหาน้ำดื่มเท่านั้น

นายประสิทธิ ชิณการณ์ กล่าวไว้ในเอกสารเรื่อง ชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตในสมัยก่อนและปัจจุบันว่า คนไทยเริ่มอพยพเข้าสู่ภาคใต้เมื่อราว พ.ศ.500 มาอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ชาวอินเดีย ซึ่งมีอำนาจอยู่แถบจังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึง พ.ศ. 800 จึงได้ตั้งตนเป็นอิสระ ปกครองดินแดนภาคใต้แทนชาวอินเดีย และมีผู้ปกครองเป็นคนไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.183 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัยได้รวบรวมดินแดนภาคใต้ตลอดแหลมมลายูเอาไว้ในอำนาจ และเริ่มเข้าสู่ประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่นั้นมา

ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดภูเก็ต เป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติมาโดยตลอด ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และฝรั่งเศสเข้ามาตั้งห้าง เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับแร่ดีบุก ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์มีชาวตะวันตก ชาวจีน และชาวอินเดีย ได้เข้ามาทำมาหากิน ทำเหมืองแร่ในภูเก็ต และได้นำเอาวิทยาการใหม่ๆ เข้ามาเผยแพร่ ทำให้วัฒนธรรมภูเก็ตมีลักษณะหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การรับความเชื่อจากศาสนาฮินดู เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ การนับถือพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ เข้ามาผสมผสานกับการนับถือพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังรับภาษาพูดมาจากภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และ ภาษาจีน ขนบธรรมเนียมประเพณีจึงมีทั้งพิธีพุทธ พิธีพราหมณ์ พิธีจีน ผสมผสานเป็นวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ทั้งนี้เพราะมีคนต่างชาติต่างภาษาเข้ามามีอิทธิพลในภูเก็ตหลายพวกนั่นเอง

ภูเก็ตในอดีต เป็นสังคมชนบทที่อยู่รวมกันด้วยความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน พืชผล การให้ปันสิ่งของ แม้กระทั่งที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ภูเก็ตเป็นสังคมที่ผู้คนค่อนข้างจะเป็นตัวของตัวเองสูง พูดจาเสียงดังไม่เกรงใจใคร รักพวกพ้อง มักจะเรียกกลุ่มของตนตามหมู่บ้านที่อยู่ เช่น ชาวบางเหนียว ชาวสามกอง ชาวโรงอิฐ พวกบ้านส้าน บ้านพอน บ้านเคียน ฯลฯ ปัจจุบันสังคมภูเก็ตเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมือง การช่วยเหลือเกื้อกูลแบบให้เปล่าเปลี่ยนเป็นการซื้อขาย ทุกอย่างกลายเป็นธุรกิจไปหมด ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันลดลง เกิดความระแวงหวาดกลัวว่า จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนแปลกหน้า ทุกคนจะเริ่มคำนึงถึงตนเองมากกว่าสังคมส่วนรวม สังคมภูเก็ตจึงเพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะการอพยพเข้าสู่ภูเก็ตของคนต่างถิ่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น สิ่งที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ ค่านิยม อิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น

นายประสิทธิ ชิณการณ์

นายประสิทธิ ชิณการณ์

นายประสิทธิ ชิณการณ์
นายประสิทธิ ชิณการณ์

นายประสิทธิ ชิณการณ์ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรมภาคใต้ สาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2530 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นับเป็นบุคคลคนแรกของภูเก็ตที่ได้รับรางวัลนี้ ในปี พ.ศ.2538 ท่านได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวัฒนธรรมศึกษา ได้รับโล่และเกียรติบัตร ในฐานะนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดีเด่น จากมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร

ประวัติการศึกษาและผลงาน

พ.ศ.2480 จบมัธยมปีที่ 1 จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย
พ.ศ.2484-2487 เป็นครูประชาบาลโรงเรียนประชาบาลตำบลราไวย์ (วัดสว่างอารมณ์) อ.เมือง จ.ภูเก็ต
พ.ศ.2487-2493 ทำงานส่วนตัวในสวนยางพาราที่ตำบลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต
พ.ศ.2493-2494 เป็นสมุห์บัญชีบริษัทโฮ่ยเซี้ยง จำกัด และบริษัทในเครือ
พ.ศ.2495-2532 เป็นเลขานุการบริษัทโฮ่ยเซี้ยง จำกัด และบริษัทในเครือ
พ.ศ.2509 เป็นกรรมการดำเนินงานจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
พ.ศ.2523-2525 เป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต (คนแรก)
พ.ศ.2527-2534 เป็นประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต ครั้งที่ 2
พ.ศ.2529-2530 เป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต
พ.ศ.2535-ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ
พ.ศ.2546 ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ในฐานะผู้อุทิศตนทำประโยชน์แก่ชุมชนในภาคใต้ และได้รับเข็มประกาศเกียรติคุณ “คนดีศรีภูเก็ต” ประจำปี พ.ศ.2546
เมื่อ พ.ศ.2505 นายอ้วน สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มอบจดหมายของท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งถ่ายสำเนาจากประเทศอังกฤษจำนวน 6 ฉบับ ให้นายประสิทธิ ชิณการณ์ อ่านและเผยแพร่ ทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจ จึงได้ประพันธ์ร้อยกรอง “ยอดนารีศรีถลาง” ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้

ยอดนารีศรีถลาง
ยอดเอ๋ยยอดนารี นามท้าวเทพกระษัตรีศรีถลาง
กับท้าวศรีสุนทรอ่อนสำอาง เป็นตัวอย่างกุลสตรีผู้ดีงาม
องอาจหาญต้านไพรีเช่นวีรชาติ ชาญฉลาดรอบรู้ศัตรูขาม
เสียสละความสุขตนเป็นผลตาม ให้เกิดความดีอยู่คู่เมืองเอย
ดอกเอ๋ยดอกจันทร์กะพ้อ แผ่กิ่งก้านบานช่อพุ่มสาขา
ส่งกลิ่นหอมเยือกเย็นเป็นอัตรา ปวงประชาสุขสมปรารมภ์รัก
มุกเอ๋ยมุกดาวดี ปลอดไฝฝ้าราคีสมศรีศักดิ์
งามเด่นอยู่คู่เมืองรุ่งเรืองนัก เป็นประจักษ์พยานที่ความดีเอย

นายประสิทธิ ชิณการณ์ ได้มอบบทร้อยกรองต้นแบบข้างต้นให้นายประพันธ์ ทิมเทศ จัดทำทำนองแล้วปรับปรุงให้เป็นเนื้อร้อง กลายเป็นเพลงประจำจังหวัดภูเก็ต ที่เริ่มความว่า “ท้าวเทพกระษัตรีศรีสุนทร นามกรยอดนารีศรีถลาง เป็นทวีที่ควรเทิดน้ำใจนาง และตัวอย่างกุลสตรีนารีสมัย”

นายประสิทธิ ชิณการณ์ เป็นนักประพันธ์เรื่องสั้นที่มีสำนวนการเขียนแนวเดียวกับไม้เมืองเดิม และ ยาขอบ ช่วงแรกส่งลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารสวนอักษร ประมวญสาส์นและเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 ส่งลงพิมพ์ใน นิตยสารแม่บ้านการเรือน เช่น สองหญิงยังไม่สิ้นซากรัก สาปสวรรค์ บางนอน ยักษ์ไม่มีเขี้ยว ทำเพื่อใคร ซอยตลิ่งชัน ผู้ร้ายที่รัก วิมานนิมิต ค.ร.น หมอเจิดตัดสินใจ

นอกจากเรื่องสั้นแล้ว นายประสิทธิ ชิณการณ์ ยังได้เรียบเรียงบทความและข้อเขียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานวัฒนธรรมทุกสาขาให้หน่วยงานต่าง ๆ และลงพิมพ์ในหนังสือปักษ์ใต้ และหนังสืออื่น ๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา ผลงานเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่องานวัฒนธรรมและการศึกษา เช่น ชีวิตไทยถิ่นภูเก็ต บทละครอิงประวัติศาสตร์แสดงทางโทรทัศน์เรื่อง ยอดนารีศรีถลาง และ ถลางแตก บทความทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ประเพณีกินผัก ประเพณีพ้อต่อ อาถรรพ์หลวงพ่อแช่ม เชี้ยม สันนิษฐานเรื่อง ยี่เกรำมะนา ประวัติศาสตร์ย้อนรอยตัวเอง : ดีบุก ชนวนจลาจลเมืองภูเก็ต เหมืองแร่ รองเง็งชาวเล ภูเก็ตในทัศนะของชาวเกาหลี ฯลฯ ปริวรรตจดหมายเหตุเมืองถลาง อันเป็นต้นเหตุให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร เป็นต้น งานประพันธ์เรื่องที่ยาวที่สุดคือ นวนิยายเกร็ดพงศาวดารเมืองถลาง เรื่อง ชีวประวัติของพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหงเจ้าพระยาถลาง ลงพิมพ์ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ฉบับที่ 2001 ปีที่ 31 ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2526 นวนิยายเรื่องนี้ได้สอดแทรกประเพณีในเมืองถลางไว้มากมาย เช่น การบวช การแต่งงาน การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การต้อนรับแขกและคนอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะให้อรรถรสทางภาษาและเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์แล้วผู้อ่านยังได้รับความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองถลางอย่างจุใจ นับได้ว่าเรื่องราวของพระยาเชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เป็นนวนิยาย เรื่องเดียวที่ประมวลสรรพความรู้ของเมืองถลางไว้ได้มากที่สุด

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตขึ้นในวิทยาลัยครูภูเก็ต (มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต) ได้เสนอโครงการศึกษา ค้นคว้า รวบรวม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูเก็ต ได้เชิญนายประสิทธิ ชิณการณ์ และนายสกุล ณ นครซึ่งเป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต มาเป็นที่ปรึกษากรรมการดำเนินงาน จากการประชุมกันหลายครั้ง จึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็น “กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ” ที่ประชุมกลุ่มเสนอให้ นายประสิทธิ ชิณการณ์ เป็นประธานกลุ่มคนแรก ในปี พ.ศ.2527 ได้จัดโครงการจัดงานฉลอง 200 ปี วีรสตรีเมืองถลาง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อฟื้นฟูเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยการจัดมหกรรมแสงเสียงทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
2. เพื่อผลิตเอกสารทั้งภาษาไทย-อังกฤษ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองถลาง
3. เพื่อให้ประชาชน และเยาวชน ได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
4. เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามสำหรับประชาชน เยาวชน ได้สำนึกถึงความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหมือนที่บรรพบุรุษได้เคยต่อสู้ และเสียสละมาในอดีต
5. เพื่อเผยแพร่และเสริมสร้างคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้ปรากฏแก่คนในชาติและชนต่างชาติอย่างกว้างขวาง
6. เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน อันเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพของประชาชนและเยาวชนได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

โครงการนี้ประกอบด้วยโครงการย่อย คือ โครงการสัมมนาทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์ถลาง โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง โครงการจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ถลาง โครงการมหกรรมแสงเสียงประกอบละครเรื่อง “เลือดถลาง” และโครงการทัศนศึกษาเมืองโบราณ

ปัจจุบันท่านยังเป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ตได้เป็นอย่างดี มีผลงานทางวิชาการและเรื่องสั้น ที่เป็นเอกสารอ้างอิงขณะนี้ได้แก่ หนังสือเรื่อง “ซินแขะเมืองทุ่งคา” “ถลาง ภูเก็จ และ ภูเก็ต” และ “จดหมายเหตุเมืองถลาง” นายประสิทธิ ชิณการณ์ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ขุมทรัพย์วัฒนธรรมภูเก็ต”

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง)

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง)

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง)
พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง)

หลวงพ่อแช่ม เป็นชาวบ้านบ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา เป็นลูกศิษย์พระในวัดฉลองมาตั้งแต่เด็ก ได้บวชเป็นสามเณร เล่าเรียนธรรมะอยู่ที่วัดฉลองจนอายุครบบวชเป็นพระภิกษุ ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระจนเชี่ยวชาญ และต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดฉลอง

หลวงพ่อแช่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต ด้วยเรื่องอั้งยี่จีน พ.ศ. 2419 ที่ได้รวมตัวกันก่อการไม่สงบ ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของชาวภูเก็ต หลวงพ่อแช่มได้เป็นขวัญและกำลังใจให้ชาวภูเก็ตที่ยึดมั่นศรัทธาต่อท่าน สามารถขับไล่อั้งยี่ออกไปได้สำเร็จ ทำให้เกียรติคุณของหลวงพ่อแช่มเป็นที่ยอมรับในด้านความศักดิ์สิทธิ์ของขลัง นอกจากนี้ยังมีความรู้พิเศษในการรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับกระดูก ความรู้ในการรักษากระดูกนี้ได้ถ่ายทอดมายังลูกศิษย์ และเจ้าอาวาสวัดฉลองต่อๆ มาได้สืบทอดการรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้

ศึกอั้งยี่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2419 สมัยรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นจีนเหมือง ได้เข้ามาทำงานที่เหมืองแร่ดีบุกอยู่ในภูเก็ตหลายหมื่นคน และตั้งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ขึ้นสองกลุ่ม คือ กลุ่มงี่หิ้น กับ กลุ่มปุนเถ้าก๋ง ในปี พ.ศ. 2419 ราคาแร่ดีบุกตกต่ำ เศรษฐกิจไม่ดีเท่าที่ควร เจ้าของเหมืองมีเงินไม่พอจ่ายค่าแรง ทำให้กลุ่มปุนเถ้าก๋งไม่พอใจ เจ้าเมืองภูเก็ตในขณะนั้น คือ พระภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (ลำดวน) มีพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) เป็นจางวางเมืองภูเก็ต และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุญนาค) เป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราชหัวหมื่นมหาดเล็ก

กรรมการจีนเหมืองไม่พอใจเจ้าเมืองภูเก็ต ด้วยสาเหตุว่าลำเอียงเข้าข้างกลุ่มงี่หิ้น ประกอบกับไม่พอใจเรื่องการเก็บภาษีดีบุกในราคาสูง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ในขณะที่ความไม่พอใจคุกรุ่นอยู่นั้น ทางเมืองระนองเกิดจลาจล วุ่นจีนทำร้ายเจ้าของเหมือง อั้งยี่ส่วนหนึ่งหนีการจับกุมจากระนองมาภูเก็ต และเข้ามาร่วมขบวนการอั้งยี่ในภูเก็ต

เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทของกลาสีเรือกับพวกจีนเหมือง จีนเหมืองทำร้ายกะลาสีเรือบาดเจ็บ จึงถูกจับกุมตัว ทำให้ชาวจีนกุลีเหมืองไม่พอใจ ถืออาวุธไปเผาสถานีตำรวจ ปล้นบ้านเรือน เผาวัด ปล้นบ้านเจ้าเมือง จนเจ้าเมืองหนีการจลาจลครั้งนี้ไปอยู่ที่บ้านท่าเรือ การจลาจลเกิดขึ้นทั่วภูเก็ต และทางบ้านเมืองก็ไม่สามารถปราบพวกจีนลงได้ มีกลุ่มชาวบ้านฉลองกลุ่มเดียวที่มีหลวงพ่อแช่มเจ้าอาวาสวัดฉลองเป็นหัวหน้า ร่วมกับชาวบ้านช่วยต่อสู้จนชนะพวกกุลีจีนเหมือง ต่อมาทางกรุงเทพฯ ได้รับแจ้งข่าวการจลาจลในภูเก็ต ก็ได้ส่งพระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงใหญ่ มีอำนาจในการปราบอั้งยี่ มาร่วมมือกับทางเมืองภูเก็ต สามารถปรับอั้งยี่ได้สำเร็จ หลังการปราบอั้งยี่ลงได้เด็ดขาด หลวงพ่อแช่มได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ญาณมุนี ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต

หลวงพ่อแช่ม เป็นที่เคารพสักการะของชาวภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงมากเป็นพระภิกษุที่ชาวบ้านปิดทองตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะมรณภาพนานแล้วก็ตาม ท่านก็ยังเป็นที่เคารพอย่างสูงเยี่ยงผู้วิเศษด้านอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคมจนถึงปัจจุบัน

พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (พระยาถลางหนู)

พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (พระยาถลางหนู)

พระยาถลาง (หนู) เป็นเจ้าเมืองถลางคนสุดท้าย มีศักดิ์เป็นเหลนของ พระยาถลางทองพูน เมื่อพระยาถลาง (เกต) ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2433 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งเป็น พระยายศภักดี (หนู) ยกกระษัตรเมืองภูเก็ตในขณะนั้น เป็นเจ้าเมืองถลางคนใหม่ พระยาถลาง (หนู) ได้ปกครองเมืองถลางได้ 4 ปี คือ ระหว่าง 2433-2437 ตำแหน่งสุดท้ายได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงครามนิคมคามบริรักษ์ สยามพิทักษ์ภักดี (หนู) แล้วทรงโปรดฯ ให้ยุบเมืองถลาง เป็นอำเภอถลาง ขึ้นอยู่กับเมืองภูเก็ต ตำแหน่งเจ้าเมืองถลางจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา

พระยาถลาง (หนู) เป็นบุคคลในสายสกุล “ณ ถลาง”

พระยาวิชิตสงคราม (ทัต)

พระยาวิชิตสงคราม (ทัต)

พระวิชิตสงคราม (ทัต) เป็นบุตรของ พระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (แก้ว) เดิมรับราชการเป็นกรมการเมืองถลาง แล้วออกจากเมืองถลางมาทำแร่ดีบุกที่บ้านเก็ตโฮ่ต่อจากบิดา และได้ขยายกิจการการทำเหมืองแร่ดีบุกมาตามลำน้ำคลองบางใหญ่จนถึงบ้านทุ่งคา เมื่อบ้านทุ่งคาเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ประชาชนอพยพมาอยู่อย่างคับคั่ง จึงจัดตั้งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองใหญ่แทนเมืองเก่าที่บ้านกะทู้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ พระภูเก็ต (ทัต) เป็นพระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (ทัต) เจ้าเมืองภูเก็ต แทนบิดาซึ่งถึงแก่กรรม

พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) เป็นผู้ที่สนับสนุนให้ชาวจีนจากปีนังและสิงคโปร์เข้ามาลงทุนขุดหาแร่ดีบุกในเมืองภูเก็ต นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่บ้านเมืองมากกว่าสมัยใดๆ เมืองภูเก็ตกลายเป็นเมืองค้าดีบุกที่คึกคัก หนาแน่นไปด้วยผู้คน เศรษฐกิจคล่องตัว เมื่อชราลงได้สนับสนุนให้บุตรชายชื่อ ลำดวน รับช่วงการดำเนินงานต่อมาในตำแหน่งเจ้าเมือง สืบทอดภาษีอากร และผูกขาดการทำแร่ดีบุกแทน

พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2421 หลังจากนั้นอีก 37 ปี พระรัตนดิลก (เดช) น้องชายต่างมารดาคนสุดท้องของ พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ได้รับพระราชทานนามสกุล “รัตนดิลก” จากรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2458 และได้รับพระราชทานนามสกุลต่อท้ายว่า “ณ ภูเก็ต” ในปี พ.ศ. 2459 ดังนั้นพระรัตนดิลก (เดช) จึงเป็นต้นสกุล “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ตั้งแต่นั้นมา

พระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (พระภูเก็ตแก้ว)

พระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (พระภูเก็ตแก้ว)

พระภูเก็ต (แก้ว) ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภูเก็ตโลหะเกษตรารักษ์ (แก้ว) เป็นบุตรพระยาถลาง (เจิม) ได้เป็นเจ้าเมืองภูเก็ตในปี พ.ศ. 2380 เป็นผู้บุกเบิกการทำเหมืองแร่ดีบุก พร้อมทั้งดำเนินการค้าขายควบคู่กันไปด้วย เมืองภูเก็ตในสมัยพระภูเก็ต (แก้ว) บ้านเมืองยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคงมากนัก การทำเหมืองแร่ยังมีน้อย และยังไม่เจริญเท่าที่ควร เพราะในขณะนั้นเมืองภูเก็ตอยู่ในการดูแลของเมืองถลาง การทำเหมืองแร่ดีบุกก็มีแค่คนไทยทำเป็นเหมืองเล็กๆ มีคนงาน 3-4 คน ต่อมาพระภูเก็ต (แก้ว) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้ว่าจ้างจีนไหหลำ จีนมาเก๊า ประมาณ 300 คน นำมาทำเหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ต และได้ขยายกิจการเหมืองแร่ดีบุกจากบ้านเก็ตโฮ่มาตามลำน้ำคลองบางใหญ่ และมาเปิดกิจการที่ตำบลทุ่งค่า ทำให้ตำบลทุ่งคาขยายตัว เป็นชุมนุมขนาดใหญ่

จากนั้นการหลั่งไหลของชาวจีนเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับความต้องการแร่ดีบุกของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดเมืองภูเก็ตก็เจริญรุดหน้ากว่าเมืองถลาง เพราะมีแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์กว่า ผู้ที่สืบสานกิจการเมืองแร่ดีบุกในเมืองทุ่งคาให้เจริญต่อมา คือ พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ปัจจุบันทางจังหวัดภูเก็ตได้นำชื่อของพระภูเก็ต (แก้ว) ไปตั้งชื่อถนน ชื่อ “ถนนพระภูเก็ตแก้ว” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการบุกเบิกการทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ตเป็นแห่งแรก

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

คอซิมบี้ ณ ระนอง
คอซิมบี้ ณ ระนอง

มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เกิดที่จังหวัดระนอง เมื่อวันพุธ เดือนเมษายน พ.ศ.2400 เป็นบุตรชายคนเล็กของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซุเจียง ณ ระนอง) มารดาชื่อ คุณหญิงกิ้ม ชื่อเดิมของพระยารัษฎาฯ ชื่อว่า ซิมบี้ แปลว่า ผู้มีจิตใจงาม มีความขยันหมั่นเพียร บิดามารดาส่งเสริมให้บุตรคนนี้มีอาชีพค้าขาย เพื่อไปดูแลผลประโยชน์ของตระกูลที่บริษัทโกหงวน เมืองปีนัง เมื่ออายุได้ 25 ปี บิดาได้ส่งไปอยู่ที่เมืองเอ้หมึง มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน อยู่ได้ 2-3 ปี บิดาถึงแก่กรรม จึงกลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ.2425 และเริ่มรับราชการ ต่อมาได้เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมืองระนอง มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี พ.ศ.2444 ได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และในขณะเดียวกัน รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นข้าราชการหัวเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น และทำงานจนเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นับท่านเป็นพระสหายที่ใกล้ชิดวางพระราชหฤทัย

จังหวัดภูเก็ตได้สร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้เป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีไว้บนยอดเขารังสถานที่พัก ผ่อนหย่อนใจและสวนสุขภาพกลางเมืองภูเก็ต

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 ที่เมืองปีนัง ด้วยโรคที่เกิดขึ้นในตัวเอง ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุถูกกระสุนปืนบรานิ่งของหมอจันทร์ ที่จังหวัดตรัง ดังที่ทุกคนเข้าใจ ขณะอายุได้ 56 ปี ทางราชการได้นำศพของท่านกลับไปฝังไว้ที่สุสาน สกุล ณ ระนอง ที่จังหวัดระนอง

ผลงานที่สำคัญได้แก่

1. การส่งเสริมให้มีการปลูกยางพารา ได้นำพันธุ์ยางมาจากมาเลเซีย และได้ไปศึกษาวิธีการปลูกมาจากมาเลเซีย แล้วนำมาแนะนำให้เกษตรกรได้ปลูกในไทย ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนชาวบ้านเรียกว่า “ยางเทศา”
2. จัดให้มีตลาดนัดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า โดยได้แนวคิดมาจากชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเขาได้จัดให้มีการชุมนุมกันอาทิตย์ละครั้ง และแต่ละแห่งไม่ตรงกัน
3. สร้างศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด และบ้านพักข้าราชการที่ภูเก็ต ให้เลือกสร้างในทำเลที่เป็นเนินสูง สร้างแบบยุโรป เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่มีลักษณะพิเศษ สวยงาม
4. จัดที่อยู่ให้โสเภณีในภูเก็ตได้อยู่เป็นที่เป็นทางที่ ซอยรมณีย์ (สมัยนั้นเรียกว่า “กรอกมาเก๊า”)
5. ตั้งโรงพยาบาลประจำมณฑล คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
6. ตั้งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เพื่อให้ธุรกิจการเงินในภูเกตคล่องตัวขึ้น
7. สร้างท่าเรือนเรศ (ปัจจุบันคือบ้านพักเจ้าพนักงานศุลากากรภูเก็ต) เพื่อให้เรือใหญ่ได้เข้าเทียบท่าได้สะดวก และขอให้นายเหมืองและผู้ประกอบการทำเหมืองขุดลอกคลองที่ปากอ่าวภูเก็ตทุกปี

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดวงประทิปแห่งชายฝั่งทะเลตะวันตก) หรือ “ยอดนักปกครองในรอบ 200 ปี ของชายฝั่งทะเลตะวันตก”

นายเลียบ ชนะศึก

นายเลียบ ชนะศึก

นายเลียบ ชนะศึก
นายเลียบ ชนะศึก

นายเลียบ ชนะศึก ได้รับการเชิดชูเกียรติจากศูนย์วัฒนธรรมอำเภอถลาง ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมอำเภอถลาง ในปี พ.ศ.2532 นับเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของนายเลียบ ชนะศึก ถึงกับกล่าวว่า “ก่อนตาย จะต้องทำอะไรเพิ่มอีกสักชิ้นหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะชน” ดังนั้นไม่ว่างานประเพณีที่ชุมชนร้องขอ นายเลียบ ชนะศึก ต้องเข้าไปร่วมทุกงานทุกเทศกาล จากการที่สามารถถ่ายทอดงานวัฒนธรรมท้องถิ่นถลางให้กับผู้ที่สนใจได้ตลอดเวลา โดยไม่เคยหวงความรู้และปิดบังอำพราง ผู้รับความรู้ด้านวัฒนธรรมไม่เคยผิดหวัง ทั้งยังได้รับความเพลิดเพลินบันเทิงใจทุกครั้งที่ไปขอข้อมูลทางวัฒนธรรมจากนายเลียบ ชนะศึก

นายเลียบ ชนะศึก ได้เข้ารับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ ให้เป็น ผู้มีผลงานทางวัฒนธรรม สาขากีฬาและนันทนาการ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตลดา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2534

สิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับครอบครัว นายเลียบ ชนะศึก คือ การได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวัฒนธรรมศึกษา เมื่อ พ.ศ.2547

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตขึ้นที่วิทยาลัยครูภูเก็ต (มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต) ในปี พ.ศ.2523 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายเลียบ ชนะศึก เป็นกรรมการดำเนินงานในศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต การเป็นกรรมการดำเนินงานครั้งนี้ ทำให้นายเลียบ สามารถรื้อฟื้นความชำนาญที่มีมาแต่เดิม เพื่อเติมความสุขแก่ผู้ใกล้เคียง และมอบสรรพความรู้ทางด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมถลาง เป็นวิทยาทานแก่ท่านผู้ฟังพึงรู้ นำไปจัดทำรายงานเผยแพร่กว้างขวางออกไป นายเลียบ ชนะศึก มีผลงาน ดังนี้

1. เป็นผู้เก็บรวบรวมเอกสารโบราณ “บุด” ของจังหวัดภูเก็ตไว้ศึกษาเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 50 ฉบับ นับได้ว่าเป็นบ้านเอกชนที่เก็บรักษาหนังสือบุดได้มากที่สุดในจังหวัดภูเก็ต หนังสือบุดเหล่านี้ ได้บริการแก้ผู้สนใจมาโดยตลอด

2. เป็นวิทยากรทางด้านวัฒนธรรมให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท

3. แต่งนิราศอิสาน นิราศเหนือ และบทประพันธ์เบ็ดเตล็ดอีกมากมาย

4. เป็นผู้ประสานงานทางวัฒนธรรมมนเขตอำเภอถลาง ให้กับศูนย์วัฒนธรรมอำเภอถลาง โรงเรียนเมืองถลาง และศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

5. เป็นผู้มีความรู้ทางด้านการละเล่นของเด็กในจังหวัดภูเก็ต-พังงา เป็นอย่างดี จนสามารถเล่าถ่ายทอดโดยการอธิบายและสาธิตด้วยความชำนาญ
ชื่อการละเล่น และสำนวนเพลง ประกอบการละเล่นของเด็กภูเก็ตที่ นายเลียบ ชนะศึก สามารถถ่ายทอด ได้แก่

กะลาทูนหงอก ขวัญเดียว ขี้แพ้ ขี้ม้า แขก คนแก่ คนหัวแหว่ง เคยเค็ม จ้ำจี้ ชิ้งช้าง ดำดูด เด็กขี้แพ้ เด็กขี้ร้อง เด็กขี้แย เด็กหางเปีย เดือน ตดฉีดตดฉาด ตาเอี้ยม ตาโอง ตาตุ๊ ตาเหล่ ตำรวจ เต่า แต่ช้าแต่ บ้างโก้ย บ้างบุ้ง บ่าวแดง บู้บี้ ป้าแมะ ป้าลุ้ย ปี่แป๊ะอ้วน โป้งพระอินทร์ นุ่งผ้า ผมจุก ฝนตก แมงมุม รีรีข้าวสาร เรียกไม่ขาน ลูกกระท้อน ลิโป้ง โลกอะไร หนึ่ง ก ไก่ หนึ่งปล่อยเป็ด หนึ่งสอง หัวจุก หัวเป็นตาลขโมย หัวล้าน หัวหน้า หัวถลอก หัวโล้น หิ่งห้อย อ้านแดง แซะ เครื่องบิน อีฉุด มิดลอ โตกดาวเด้อ จิ้ว เตย

6. สามารถเป็นวิทยากรสาธิต และแสดงมหรสพพื้นเมือง อันยังความรู้และความบันเทิงให้แก่ผู้สนใจได้ด้วยความชำนาญ เช่น บทหนังตลุงประตก บทโนรา เพลงต้นโย้ง เพลงนา เพลงเปล และถนัดมากในการเล่นลิเกป่า

7. มีความสามารถในการแสดง “ว่ามาลัย” ในงานศพ และกระทำติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 40 ปี การ “ว่ามาลัย” เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ นายเลียบ ชนะศึก ถือเป็นกิจที่ต้องกระทำให้กับเจ้าภาพผู้สูญเสียทุกงานศพสม่ำเสมอมา โดยถือเป็นการกุศลและไม่รับสินจ้างรางวัล

นายเลียบ ชนะศึก ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ขุนทรัพย์วัฒนธรรมถลาง”