การแต่งกายของชาวภูเก็ตในชนบท
คนไทยส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่นอกเมืองออกไป เช่น บริเวณบ้านฉลอง บ้านป่าตอง บ้านเคียน บ้านดอน บ้านสาคู อาชีพของชาวบ้านทั่วไปส่วนใหญ่ ทำสวน ทำนา ทำไร่ ร่อนแร่ ฐานะค่อนข้างยากจนหรือพอมีพอกิน จากการบอกเล่าของ นายเลียบ ชนะศึก ประธานสภาวัฒนธรรมถลางกล่าวว่า ผู้หญิงที่ค่อนข้างยากจนหรือพอมีพอกิน นิยมนุ่งโจงกระเบน คาดเข็มขัดเงินหรือเข็มขัดหนัง แล้วแต่ฐานะ ผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าดำผ้าสีทึบ หรือผ้าลายดอกพิกุล เสื้อคอกลมแขนกระบอก ไม่รัดรูปมากนัก ถ้าเป็นคนเฒ่าคนแก่ก็จะสวมสื้อหลวม ๆ (เฉพาะไปวัดไม่สวมรองเท้า ถือเชี่ยนหรือตะกร้าหมาก) ส่วนเด็กผู้หญิงจนถึงผู้หญิงสาว นิยมนุ่งผ้าถุงเป็นผ้าพื้นหรือผ้าลาย แต่เด็กผู้หญิงจะสวมเสื้อคอกระเช้า
ส่วนหญิงสาวสวมเสื้อตามสมัยนิยม ถ้าออกจากบ้านก็สวมเสื้อสามส่วนเข้ารูป ลักษณะการแต่งกายส่วนใหญ่ก็ได้รูปแบบมาจากภาคกลาง ต่อมาเมื่อคนจนได้เข้ามาในภูเก็ตมากขึ้น คนไทยส่วนหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบการแต่งกายโดยรับเอาการนุ่งโสร่งปาเต๊ะมานุ่งแทนผ้าถุงเดิม แต่ลักษณะเสื้อผ้ายังคงเดม ผู้หญิงวัยกลางคนจนถึงสูงอายุ นิยมกระโจมอกอยู่บ้าน สำหรับเด็ก ๆ นุ่งผ้าถุงไม่สวมเสื้อ
สำหรับคนไทยที่เป็นข้าราชการ ก็แต่งกายแบบข้าราชการในราชสำนักทุกประการคือ นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อกระดุม 5 เม็ด คอตั้ง และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการแต่งกายของแต่ละยุคสมัย เช่น รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ข้าราชการชายรุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อราชปะแตน ผู้หญิงก็นุ่งซิ่น สวมเสื้อตามแบบพระราชนิยม ข้าราชการพลเรือนไทยเปลี่ยนจากนุ่งผ้าโจงกระเบนนุ่งกางเกงแบบสากล ในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (หลังพ.ศ. 2475)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น