วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เมืองถลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมืองถลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมืองถลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เมืองถลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.2328 หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพฯ ได้ 3 ปี ก็เกิดศึกใหญ่กับพม่า ซึ่งประวัติศาสตร์ไทยเรียกสงครามครั้งนี้ว่า สงครามเก้าทัพ การรบกับพม่าครั้งนี้มิได้รบเฉพาะที่เมืองหลวงเท่านั้น แต่พม่าได้ยกทัพมาโจมตีหัวเมืองต่างๆ ของไทย รวมถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมดด้วย

การที่พระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า มีดำริจะมาตีไทย ก็เพราะเห็นว่าไทยกำลังอยู่ในระยะผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ การป้องกันประเทศคงจะไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ประกอบกับพระองค์เป็นนักรบที่มีความสามารถ ต้องการที่จะขยายอาณาจักรของพระองค์ให้กว้างขวางกว่ากษัตริย์องค์ก่อน ๆ การจัดทัพของพม่าในครั้งนี้ จัดเป็น 9 ทัพใหญ่ มีกำลังพล 144,000 คน โดยเกณฑ์ผู้คนจากบรรดาประเทศราชทั้งหลาย จัดทัพเป็นหลายกองยกมาตีไทย

ทัพที่ 1 ซึ่งยกมาตีเมืองถลางมี แมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพ มีทั้งทัพบก ทัพเรือ จำนวนพล 10,000 คน เรือกำปั่นรบ 15 ลำ ทัพบกยกมาจากมะริด ให้ยกมาตีไทยทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่ชุมพรไปจนถึงเมืองสงขลา ทัพเรือตีหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่ตะกั่วป่าไปจนถึงเมืองถลาง มี ยี่หวุ่น เป็นแม่ทัพเรือ พม่ายกกองทัพมาตีตะกั่วป่า เมื่อตีตะกั่วป่าได้แล้ว พม่าเลียบชายฝั่งลงมาถึงตะกั่วทุ่ง และตั้งค่ายอยู่ที่บริเวณปากพระตรงกันข้ามกับเกาะถลาง พร้อมที่จะนำกองทัพเข้าตีเกาะถลางต่อไป

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้จากพงศาวดารพม่าเพิ่มเติมว่าพระเจ้าปดุงให้แมงยี แมงข่องกยอ แม่ทัพทำหน้าที่รวบรวมเสบียงอาหารไว้ให้เพียงพอ สำหรับทัพหลวงที่ยกมาตั้งที่เมาะตะมะ ครั้นเมื่อทัพหลวงมาถึงไม่ได้เสบียงตามที่ต้องการ พระเจ้าปะดุงพิโรธให้ประหารแมงยี แมงข่องกยอเสีย แล้วตั้งเกงหวุ่นแมงยีมหาสีหะสุระอรรคมหาเสนาบดีเป็นแม่ทัพที่ 1แทน

หัวเมืองปักษ์ใต้ ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น เจ้าพระยาอินทวงษาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สำเร็จราชการดูแลเมืองชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกแปดหัวเมือง อันได้แก่ ตะกั่วป่า เกะรา คุระ คุรอด ตะกั่วทุ่ง พังงา ถลาง และภูเก็ต ตั้งที่ทำการอยู่ที่บริเวณปากพระ (ฝั่งท่านุ่น) ในปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกที่ทำการแห่งนี้ว่า ควรพระยาอิน ครั้นเปลี่ยนรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอินทวงษาเข้าไปยังกรุงเทพฯ ครั้นกองกำลังจากกรุงเทพฯมาถึงที่ปากพระ รอดูท่าทีเมืองถลาง ทางเมืองถลางในขณะนั้น พระยาถลางป่วยหนัก ฐานะการเงินค่อนข้างฝืดเคือง ประกอบกับทางเมืองถลางได้รับข่าวศึกพม่าจึงสร้างความหนักใจให้แก่ท่านผู้หญิงจันกับครอบครัวและชาวเมืองถลางยิ่งนัก ท่านผู้หญิงจันได้เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไปยัง กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ว่า

ด้วยมีหนังสือไปนั้นได้แจ้งแล้ว ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พญาถลางๆ ป่วยหนักอยู่ แลมีราวข่าวว่า พม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพญาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยุดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค่าผ้านั้น ท่าพญาถลางยังเจ็บหนักมิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าท่าน พญาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวตักเตือนให้หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนอ้ายขึ้นห้าค่ำ ปีมะเส็ง สัพศก (ทางสุริยะคติตรงกับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2328)

เมื่อ พระยาถลางพิมล (ขัน) ซึ่งป่วยหนักอยู่ได้ถึงแก่กรรมลง พระยาธรรมไตรโลก และ พระยาพิพิธโภไคย จึงนำกำลังเข้าจับกุมตัวท่านผู้หญิงและครอบครอบครัวมาที่ค่ายปากพระ เพื่อจะนำตัวไปพิจารณาโทษในกรุงต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากเมืองถลางค้างค่าภาษีดีบุกตั้งแต่พระยาถลางยังมีชีวิตอยู่ เป็นเวลาเดียวกันที่พม่ายกกองทัพมาประชิดค่ายปากพระพอดี พระยาธรรมไตรโลก และกองทัพที่ค่ายปากพระเข้าต่อสู้กับพม่า แต่ไม่สามารถจะต้านกำลังพม่าได้ ค่ายปากพระแตก พระยาธรรมไตรโลกและพระยาพิพิธโภไคยหนีไปพังงา ส่วนท่านผู้หญิงจันและครอบครัวตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศใต้ข้ามช่องปากพระกลับมายังเมืองถลาง เพื่อเตรียมผู้คนต่อสู้พม่าต่อไป เหตุการณ์ตอนนี้ท่านผู้หญิงจันได้เล่าไปยัง กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ในเวลาต่อมาว่า

แลอนึ่งเมื่อพม่ายกมานั้น พญาธรรมไตรโลกให้เกาะเอาตัวตูข้าลงไปไว้ ณ ปากพระ ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้ กลับแล่นหนีมา ณ บ้านแลคนซึ่งให้รักษาบ้านเรือนอยู่นั้น แล่นทุ่มบ้านเรือนเสีย

ครั้น ท่านผู้หญิงจัน กลับมา ขวัญและกำลังใจของชาวเมืองถลางดีขึ้น ร่วมกันตั้งกำลังป้องกันข้าศึกอย่างเข้มแข็ง กองกำลังที่สำคัญคือ ค่ายเกาะบ้านเคียน ค่ายหลังวักพระนางสร้าง และให้สร้างเขื่อนปิดกั้นน้ำในคลองบางใหญ่ เรียกว่า นบนางดัก มิให้พม่าได้ใช้น้ำ ปืนใหญ่ที่สำคัญในการสู้รบครั้งนี้คือ ปืนแม่นางกลางเมือง และปืนใหญ่หลายกระบอกร่วมประจัญบานตาม แผนพิรุณสังหาร (แผนพิรุณสังหาร คือ การระดมยิงเข้าไปในกองทัพพม่าราวกับห่าฝน) ทัพพม่าส่วนหนึ่งได้ยกมาทางเรือ ขึ้นฝั่งบริเวณท่าตะเภา (ปัจจุบันเรียกว่าปากช่องค่าย) และส่วนหนึ่งเข้ามาทางคลองบางใหญ่ เข้ามาตั้งค่ายที่บริเวณโคกพม่า (ชาวบ้านเรียกหลังจากเสร็จศึกแล้ว) และบ้านนากลางอีกหนึ่งค่ายโอบล้อมเมืองถลางไว้ กองทัพพม่าตั้งประจันหน้ากันอยู่หลายวัน แต่ไม่กล้ายกเข้าตีค่ายไทย ฝ่ายข้างเมืองถลางมีกำลังน้อย ไม่สามารถออกโจมตีโดยตรง ท่านผู้หญิงจันและคณะกรมการเมืองจึงปรึกษากันออกอุบายให้พม่าถอยทัพกลับไป ท่านผู้หญิงจัน และคุณมุกน้องสาว คัดเลือกผู้หญิงกลางคนประมาณ 500 คนเศษ มาแต่งตัวอย่างผู้ชายเอาทางมะพร้าวมาทำเป็นอาวุธเพื่อลวงข้าศึก จัดขบวนทำทีจะยกเข้าตีทัพพม่า

เมื่อพม่าเห็นดังนั้นจึงจัดขบวนพร้อมกันที่หน้าค่ายตรงต้นทองหลางน้ำ พร้อมที่จะตอบโต้ ทางเมืองถลางเมื่อเห็นทีท่าเช่นนั้น ท่านผู้หญิงจันจึงสั่งให้นายทองพูนปลัดเมืองถลาง จุดปืนใหญ่ตามแผ่นพิรุณสังหารยิงตรงไปชุมนุมพม่า กระสุนปืนตัดกิ่งทองหลางน้ำหน้าค่ายพม่าขาดตกลงกลางกลุ่มนายทหารของพม่า ทางฝ่ายไทยก็ตีฆ้องกลองราวกับพร้อมจะบุกโจมตีพม่าขวัญเสีย ตกใจ ถอยกลับเข้าค่าย ฝ่ายไทยยังคงทำอุบายให้ผู้สูงอายุ และผู้หญิงเดินกลับเข้าค่ายในตอนย่ำรุ่งทุกเช้า ทำลักษณะเช่นนี้ประมาณ 3-4 วัน พม่าคิดว่าฝ่ายไทยมีกำลังเพิ่มเสมอ ทำพม่าไม่กล้าโจมตี ไทยจัดกองกำลังออกโจมตีพม่าขณะออกลาดตระเวนหาเสบียงอาหาร ทำให้ทหารพม่าบาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก เมื่อทางพม่าเกิดการระส่ำระสาย ฝ่ายถลางจึงยกกองทัพเข้าโจมตี ปืนใหญ่ก็ระดมยิง พม่าถอยไปรวมกันที่ค่ายโคกพม่า ชาวถลางที่ค่ายนบนางดักก็เคลื่อนตามพม่าไป พม่าขาดเสบียงอาหาร ประกอบกับเหนื่อยหน่ายต่อสงคราม เนื่องจากได้ล้อมเมืองถลางอยู่ประมาณเดือนเศษ ทหารพม่าบาดเจ็บล้มตายลงประมาณ 300-400 คน หมดความสามารถจะตีเมืองถลางได้ จึงเลิกทัพกลับไปเมื่อวันจันทร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็งสัปตศก จ.ศ.1147 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2328

ข่าวกองทัพพม่าโจมตีเมืองถลาง มาถึงกรุงเทพมหานครในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2328 แต่เวลานั้นกองทัพของเมืองหลวงยังคงต้องต่อสู้กับข้าศึกทางด้านเหนือ และกาญจนบุรีทางด้านตะวันตก จึงไม่สามารถส่งกองทัพมาช่วยได้ทันท่วงที เมื่อกองทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีชัยชนะต่อข้าศึก แล้วก็ได้ยกกองทัพลงมาทางใต้ ขับไล่กองทัพพม่าออกไปได้สำเร็จ โดยทรงยกกองทัพไปถึง นครศรีธรรมราช และสงขลา ทำให้เมืองปัตตานีและรัฐอื่น ๆ ของมลายูที่แข็งเมือง กลับมาเป็นเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ยังไม่ทันจะลงมาช่วยเมืองถลาง ก็ได้รับใบบอกจากเมืองถลางว่า พม่าแตกพ่ายถอยทัพกลับไปแล้ว กองทัพของกรมพระราชวังบวรฯจึงได้ยกกลับกรุงเทพฯ และทรงกราบบังคมทูลความดีความชอบของท่านผู้หญิงจัน คุณมุก และชาวเมืองถลางในการที่ได้ร่วมกันป้องกันเมืองไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีตราไปยังเมืองถลางแต่งตั้งให้ท่านผู้หญิงจัน ภรรยาพระยาถลางพิมล (ขัน) เป็น ท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศแด่วีรสตรีตามสมควรแก่ความชอบในราชการสงคราม พระยาทุกรราช (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ส่วน เมืองภูเก็จ (เทียน) ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของท้าวเทพกระษัตรีกับหม่อมศรีภักดี ได้รับความชอบในการสงคราม สมเด็จพระอนุชากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดให้เป็น พระยาทุกรราช (เทียน) เจ้าเมืองภูเก็จ และดำรงตำแหน่งปลัดเมืองถลางควบคู่กันไปด้วย (ต่อมาในปี พ.ศ.2330 พระยาทุกรราช (เทียน) ได้รับแต่งตั้งจากกรุงเทพฯ ให้เป็น พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง (เทียน) เจ้าเมืองถลาง มีอำนาจดูแลหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก 8 หัวเมือง นับว่าความเพียรพยายามของท้าวเทพกระษัตรีที่จะได้ลูกชายได้เป็นเจ้าเมืองถลางประสบผลสำเร็จดังที่ตั้งใจ)

หลังจากที่พม่าถอยทัพกลับไปแล้ว ความเป็นอยู่ของราษฎรเมืองถลางประสบความลำบากอดยาก ไม่มีอาหารเพียงพอ เนื่องจากถูกพม่าเผายุ้งข้าวและไร่นาในระหว่างสงครามจนหมดสิ้น เจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) ผู้สำเร็จราชารหัวเมืองฝั่งตะวันตก พ.ศ.2329-2350 ได้มีจดหมายไปขอซื้อข้าวสารจากกัปตัน ฟรานซิส ไลท์ มาแจกจ่ายแก่ชาวเมืองถลาง นอกจากนั้น ท้าวเทพกระษัตรีเองก็เขียนจดหมายเล่าถึงความยากลำบากหลังสงครามและขอความช่วยเหลือไปถึง กัปตันฟรานซิส ไลท์ ว่า

พม่าตีบ้านเมืองเป็นจุลาจล อดข้าวปลาอาหารเป็นนักหนา ตูข้ายกมา ตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำ ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อย เอาซื้อข้าวแพง ได้เท่าใด ซื้อสิ้นเท่านั้น

และเมื่อขุดแร่ดีบุกได้ก็ส่งไปยัง กัปตันฟรานซิส ไลท์ ที่ปีนัง เพื่อแลกกับข้าวสารและสินค้าจำเป็นบางอย่าง นอกจากนี้ครอบครัวท้าวเทพกระษัตรีต้องรับผิดชอบต่อภาษีดีบุกซึ่งค้างทางกรุงเทพฯอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

พระยายาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง (เทียน) ได้ปกครองเมืองถลาง ตั้งแต่ พ.ศ.2332 ถึง พ.ศ.2352 นานถึง 20 ปี เป็นระยะที่ปลอดศึกสงคราม ท่านได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่เมืองถลางเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปี สมเจพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์ พระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่าได้มอบให้ อะเติงหวุ่น แม่ทัพผู้เตรียมรี้พลไว้พร้อมนำทัพเข้าตี ชุมพร ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และเกาะถลาง อะเติงหวุ่นให้ แยฆอง เป็นนายทหารพม่าล้มตายลงราว 500-600 คน พม่าจึงทำอุบายถอยทัพไปตั้งหลักที่ปากจั่น ใกล้เมืองมะริด ฝ่ายไทยคิดว่าพม่าถอยทัพกลับไปแล้วไม่ทันระวังตัว พม่าเข้าจู่โจมใหม่ ทำให้กองทัพถลางเสียทีข้าศึกซึ่งมีกำลังมากกว่าและอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะกว่า พม่าเผาเมืองถลางจนเสียหายยับเยิน

นายประสิทธิ ชิณการณ์ กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิเคราะห์ว่า เมืองถลางที่ถูกตีแตกนั้น ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ คือ บริเวณเมืองถลางบางโรง มิใช่เมืองถลางบ้านตะเคียน และสันนิษฐานว่า พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหงพระยาถลาง และครอบครัว ตลอดจนขุนนางสำคัญของเมือง ถูกพม่ากวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ ส่วนชาวถลางที่หนีศึกข้ามฟากไปยังฝั่งพังงา ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำพังงา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระยาถลางพาหะ (บุญคง) ดูแลรวบรวมผู้คนที่หนีศึกให้มาอยู่รวมกัน ส่วนหนึ่งอพยพ ลงใต้ไปตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านฉลอง บ้านกะทู้

หลังสงครามกับพม่า พ.ศ.2352 แล้ว เมืองถลางก็ได้ย้ายเมืองใหม่ เนื่องจากที่เก่าตั้งอยู่ในชัยภูมิไม่เหมาะสม พม่ารู้ทางเข้าดีแล้ว ป้องกันข้าศึกได้ยาก เมืองถลางใหม่มาตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ ทางทิศใต้ของเมืองถลางเก่า อยู่ริมฝั่งทะเล ซึ่งเป็นอ่าวด้านตะวันออกของเกาะ รอยต่อเขตแดนเมืองภูเก็ต มีคลองท่าเรือผ่านที่ตั้งเมือง ทำให้มีการคมนาคมสะดวก เรือกำปั่นสามารถเข้ามาตามคลองจนถึงที่ตั้งเมือง เอกสารประวัติศาสตร์เมืองถลาง – ภูเก็จ กล่าวว่า เจ๊ะมะ (เจิม) หรือ หลวงล่าม เชื้อสายพ่อค้าเมืองมัทราส ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองถลาง หลังจากเมืองถลางถูกพม่าตีแตก ก็มิได้หนีพม่า ยังคงประกอบอาชีพอยู่ที่บ้านท่าเรือ มีหลักฐานมั่นคง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ซึ่งมีอำนาจปกครองเมืองถลางขณะนั้นได้แต่งตั้งให้ เจ๊ะมะ (เจิม) หรือ หลวงล่าม เป็นพระยาถลางปกครองอยู่ที่บ้านท่าเรือระหว่างปี พ.ศ.2352-2370 พระยาถลาง (เจิม) ได้มอบให้บุตรชาย ชื่อแก้ว ไปปกครองเมืองภูเก็ต

เมื่อพระยาถลาง (เจิม) สิ้นชีวิตลงเจ้าเมืองถลางต่อมา คือ พระยาถลางพาหะ (ทอง) (พ.ศ.2370-2380) ผู้เป็นบุตรของพระยาถลางพาหะ (ทอง) เจ้าเมืองถลางบางโรง ซึ่งเป็นบ้านเก่าของบิดาภรรยา เนื่องจากมีชัยภูมิเหมาะกว่า พระยาถลาง (ฤกษ์) แต่งงานกับ คุณทุ่ม ธิดาพระยาถลาง (เทียน) หลังจาก พระยาถลาง (ฤกษ์) ถึงแก่กรรม พระยาถลางคนต่อมาคือ พระยาถลาง (ทับ) (พ.ศ.2391-2405) พระยาถลาง (คิน) (พ.ศ.2405-2412) และพระยาถลาง (เกต) (พ.ศ.2412-2433)

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล (สมัยรัชกาลที่ 5) เมืองถลางถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองภูเก็ต พระยาถลางคนสุดท้ายคือ พระยาถลาง (หนู) มีราชทินนามว่า พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงครามนิคมคามบริรักษ์ สยามพิทักษ์ภักดี ปกครองอยู่ในระหว่างปี พ.ศ.2433-2438 ตระกูลขุนนางถลางซึ่งเคยมีอำนาจมาก่อนได้สิ้นสุด ผู้ปกครองเมืองภูเก็ตในระยะเวลาต่อมาเป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากส่วนกลางทั้งสิ้น และในสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2454) โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อ อำเภอเมือง เป็น อำเภอทุ่งคา และให้ยุบเลิกมณฑลแยกเป็นจังหวัดภูเก็ต หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ทางการให้เปลี่ยนชื่ออำเภอทุ่งคา เป็น อำเภอเมืองภูเก็ต และเปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองถลางเป็นอำเภอถลาง ในปี พ.ศ.2481 เมืองถลางซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองจึงเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น