วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พืชพรรณธรรมชาติบนเกาะภูเก็ต


พืชพรรณธรรมชาติบนเกาะภูเก็ตขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น พอจะสรุปได้ 3 ลักษณะด้วยกัน คือ

ป่าดิบชื้น พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดภูเก็ตในขณะนี้ คือป่าเขาพระแทว ซึ่งยังเป็นบริเวณที่มีปาล์มหลังขาว (ปาล์มเจ้าคุณถลาง) ขึ้นงอกงามที่สุด ป่าเขาพระแทวจังหวัดภูเก็ต ถูกจัดให้เป็นอุทยานป่าเขาพระแทว เพื่ออนุรักษ์ป่าและพันธุ์ไม้หากยากให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด นอกจากนี้ ด้านน้ำตกบางแปได้จัดให้มีโครงการคืนชะนีสู่ป่า โดยมีอาสาสมัครชาวต่างประเทศร่วมมือกับอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว จัดโครงการช่วยเหลือชะนีบาดเจ็บ หรือ ชะนีที่เจ้าของไม่ต้องการมาดูแลให้แข็งแรงก่อนปล่อยสู่ป่าธรรมชาติ

เขาพระแทว
เขาพระแทว
ป่าเขาพระแทวเป็นป่าขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 22 ตารางกิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเทพกระษัตรี ตำบลศรีสุนทร ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง พื้นที่บริเวณป่าเขาพระแทวมีน้ำตก 2 แห่ง น้ำตกโตนไทร และน้ำตกบางแป

ลักษณะธรรมชาติของป่าดิบชื้นบริเวณเขาพระแทว ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ 3 ระดับด้วยกัน คือ 1. พันธุ์ไม้ที่เป็นพืชคลุมดิน ได้แก่ พวกเฟิร์นชนิดต่างๆ เช่น เฟิร์นก้านดำ เฟิร์น ผักกูด เถาวัลย์ และพวกไม้เลื้อยชนิดต่างๆ 2. พันธุ์ไม้ขนาดสูง 2- 4 เมตร เช่น กล้วยป่า ปาล์มหลังขาว เต่าร้าง ไผ่ 3. พันธุ์ไม้ชั้นบน เป็นป่าที่มีลักษณะเด่นของป่าดิบชื้น เช่น ไม้ยาง ตะเคียนสามพอน ตะเคียนทราย เหลียง ตาเสือ ขนุนปาน เลือดควาย มะกอก ฯลฯ

ป่าชายเลน ป่าชายเลนเป็นป่าในเขตร้อนชื้น เป็นไม้ผลัดใบ พบทั่วไปในบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น ป่าชายเลนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ป่าโกงกาง ตามชื่อต้นไม้ที่มีมาก ชายภูเก็ตเรียกป่าชายเลนว่า ป่าพังกา ป่าชายเลนในประเทศไทยจะกระจัดกระจายอยู่ตามฝั่งทะเลทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ป่าชายเลนในจังหวัดภูเก็ตเจริญงอกงามอยู่ตามชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่ตอนเหนือสุด คือบริเวณท่าฉัตรไชยจนถึงทางตอนใต้บริเวณอ่าวภูเก็ต

พืชพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณป่าชายเลน ได้แก่ โกงกาง แสม ลำพู ตะบูน และพืชเล็กๆ เช่น เหงือกปลาหมอ ตาตุ่ม ปรงทะเล เป้ง ป่าชายเลนในจังหวัดภูเก็ต เป็นป่าที่ให้คุณค่ามหาศาลต่อระบบนิเวศและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในท้องถิ่น เป็นกำแพงกั้นลมพายุได้ดี โดยเฉพาะในคราวจังหวัดภูเก็ตประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิ

ป่าพรุ
ป่าพรุ
ป่าพรุ คำว่า พรุ เป็นคำภาษาปักษ์ใต้ (บางท้องถิ่นเรียกว่า โพละ) หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำแช่ขัง มีลักษณะคล้ายมาบในภาคตะวันออก ป่าพรุเป็นป่าดงดิบที่มีน้ำแช่ขัง เป็นเหตุให้พืชที่ขึ้นในป่าพรุต้องปรับตัวเองให้อยู่รอดโดยโผล่รากพื้นผิวดิน เพื่อระบายอากาศ รากเหล่านี้เรียกว่า รากหายใจ พรุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลในอดีต โดยการเกิดสันทรายในทะเลห่างฝั่งเล็กน้อย ต่อมาสันทรายเหล่านี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนปิดกั้นน้ำทะเลภายนอกทำให้เกิดแอ่งน้ำเค็มขึ้น

ต่อมาแอ่งน้ำเค็มจะค่อยๆ จืดลง เมื่อปริมาณน้ำฝนไหลลงไปปะปนมากขึ้น พืชจำพวกกกและหญ้าต่างๆ ก็เริ่มเจริญงอกงามขึ้น จากนั้นพืชชนิดอื่นๆ และต้นไม้ใหญ่ก็เริ่มเติบโต ปรับสภาพเข้าสู่ความเป็นพรุ กลุ่มต้นไม้เหล่านี้จะขึ้นอย่างหนาแน่นเป็นกระจุก มองจากภายนอกจึงดูคล้ายเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ สภาพป่าพรุที่เสื่อมโทรมจะมีต้นเสม็ดขึ้นอยู่ทั่วไป ดินพรุเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของซากพืชและใบไม้ พื้นดินของพรุจะมีลักษณะยืดหยุ่นคล้ายฟองน้ำ เพราะมีน้ำแช่ขังอยู่ตลอดเวลา ดินพรุไม่เหมาะที่จะปลูกพืช เพราะเป็นดินที่เกิดจากตะกอนทะเล มีสารกำมะถันเจือปนสูงทำให้ดินเป็นกรด

พืชพันธุ์ไม้ในป่าพรุจะประกอบด้วย พืชที่ใช้เป็นอาหาร พืชยา พืชที่ใช้ทำเครื่องจักรสาน และพืชยืนต้น พืชที่ใช้เป็นอาหาร เช่น ผักกูด ลำเพ็ง ผักหวาน หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชยา เช่น นมตำเลีย กำแพงเจ็ดชั้น หญ้างวงช้าง พืชที่ใช้ทำเครื่องจักรสาน เช่น หวายและจูด พืชยืนต้น เช่น เสม็ด ตีนเป็ด บุกเบา

ป่าพรุในจังหวัดภูเก็ตที่ยังคงสภาพพรุที่ค่อนข้างสมบูรณ์มีน้อยมาก เนื่องจากการพัฒนาพรุ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การสร้างโรงแรมริมหาดทำให้จำนวนพรุลดลง พรุที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ ได้แก่ พรุหลังวัดหาดไม้ขาว พรุจิก ส่วนพรุยาว และพรุเจ๊ะสัน ถูกเปลี่ยนสภาพเพื่อการท่องเที่ยว มีการสร้างถนนรอบพรุ เป็นการปิดกั้นทางน้ำตามระบบนิเวศ และมีการขุดลอกพรุเพื่อพัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำ ทำให้ป่าไม้ในพรุเสื่อมโทรม คาดว่าต่อไปในอนาคตพรุในจังหวัดภูเก็ตคงจะหมดไป

ประโยชน์ของพรุ 1. เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ 2. ให้ความร่มเย็นตามธรรมชาติ สามารถจัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้ 3. แหล่งน้ำซับตามธรรมชาติ ทำให้บ่อน้ำของชาวบ้านมีกินมีใช้ตลอดปี และยังคงรักษาความชุ่มชื้นในพื้นดินตลอดเวลา ปัจจุบันชาวบ้านบริเวณบ้านไม้ขาวอาศัยพรุเป็นแหล่งน้ำสำหรับ วัว ควาย และเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชล้มลุก เช่น ถั่วฝักยาว แตงกวา มะระ มะเขือ พริก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น