วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

คอซิมบี้ ณ ระนอง
คอซิมบี้ ณ ระนอง

มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เกิดที่จังหวัดระนอง เมื่อวันพุธ เดือนเมษายน พ.ศ.2400 เป็นบุตรชายคนเล็กของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซุเจียง ณ ระนอง) มารดาชื่อ คุณหญิงกิ้ม ชื่อเดิมของพระยารัษฎาฯ ชื่อว่า ซิมบี้ แปลว่า ผู้มีจิตใจงาม มีความขยันหมั่นเพียร บิดามารดาส่งเสริมให้บุตรคนนี้มีอาชีพค้าขาย เพื่อไปดูแลผลประโยชน์ของตระกูลที่บริษัทโกหงวน เมืองปีนัง เมื่ออายุได้ 25 ปี บิดาได้ส่งไปอยู่ที่เมืองเอ้หมึง มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน อยู่ได้ 2-3 ปี บิดาถึงแก่กรรม จึงกลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ.2425 และเริ่มรับราชการ ต่อมาได้เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมืองระนอง มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี พ.ศ.2444 ได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และในขณะเดียวกัน รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นข้าราชการหัวเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น และทำงานจนเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นับท่านเป็นพระสหายที่ใกล้ชิดวางพระราชหฤทัย

จังหวัดภูเก็ตได้สร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้เป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีไว้บนยอดเขารังสถานที่พัก ผ่อนหย่อนใจและสวนสุขภาพกลางเมืองภูเก็ต

พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 ที่เมืองปีนัง ด้วยโรคที่เกิดขึ้นในตัวเอง ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุถูกกระสุนปืนบรานิ่งของหมอจันทร์ ที่จังหวัดตรัง ดังที่ทุกคนเข้าใจ ขณะอายุได้ 56 ปี ทางราชการได้นำศพของท่านกลับไปฝังไว้ที่สุสาน สกุล ณ ระนอง ที่จังหวัดระนอง

ผลงานที่สำคัญได้แก่

1. การส่งเสริมให้มีการปลูกยางพารา ได้นำพันธุ์ยางมาจากมาเลเซีย และได้ไปศึกษาวิธีการปลูกมาจากมาเลเซีย แล้วนำมาแนะนำให้เกษตรกรได้ปลูกในไทย ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนชาวบ้านเรียกว่า “ยางเทศา”
2. จัดให้มีตลาดนัดเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า โดยได้แนวคิดมาจากชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเขาได้จัดให้มีการชุมนุมกันอาทิตย์ละครั้ง และแต่ละแห่งไม่ตรงกัน
3. สร้างศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด และบ้านพักข้าราชการที่ภูเก็ต ให้เลือกสร้างในทำเลที่เป็นเนินสูง สร้างแบบยุโรป เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่มีลักษณะพิเศษ สวยงาม
4. จัดที่อยู่ให้โสเภณีในภูเก็ตได้อยู่เป็นที่เป็นทางที่ ซอยรมณีย์ (สมัยนั้นเรียกว่า “กรอกมาเก๊า”)
5. ตั้งโรงพยาบาลประจำมณฑล คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
6. ตั้งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เพื่อให้ธุรกิจการเงินในภูเกตคล่องตัวขึ้น
7. สร้างท่าเรือนเรศ (ปัจจุบันคือบ้านพักเจ้าพนักงานศุลากากรภูเก็ต) เพื่อให้เรือใหญ่ได้เข้าเทียบท่าได้สะดวก และขอให้นายเหมืองและผู้ประกอบการทำเหมืองขุดลอกคลองที่ปากอ่าวภูเก็ตทุกปี

พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดวงประทิปแห่งชายฝั่งทะเลตะวันตก) หรือ “ยอดนักปกครองในรอบ 200 ปี ของชายฝั่งทะเลตะวันตก”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น