วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นมาของชาวภูเก็ต

ความเป็นมาของชาวภูเก็ต

ความเป็นมาของชาวภูเก็ต
ความเป็นมาของชาวภูเก็ต

ผู้คนในภูเก็ตแต่เดิมนั้น สันนิษฐานว่า เป็นชาวป่าดงเช่นเดียวกับผู้คนในภาคใต้โดยทั่วไป อันประกอบด้วยพวก “กาฮาซี” ซึ่งมีผิวเนื้อดำ ตาโปนขาว ผมหยิก ร่างกายสูงใหญ่ ใบหน้ามน ฟังแหลม ชอบกินคนและสัตว์เป็นอาหาร (นายประสิทธิ ชิณการณ์ อ้างถึงการค้นคว้าของ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ในหนังสือสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง) ชนพื้นเมืองดังกล่าวประกอบด้วย

พวกซาไก ผมหยิก ตาโปนขาว ริมฝีปากหนา ชอบล่าสัตว์ กินผลไม้เป็นอาหาร ไม่ดุร้าย

พวกเซียมัง คล้ายซาไก ชอบอาศัยอยู่บนภูเขาสูง

พวกโอรังลาโอด เป็นพวกที่ชอบอยู่ตามเกาะริมทะเล ใช้เรือเป็นพาหนะ ไม่ชอบอยู่บนบก เรียกว่า “ชาวน้ำ” หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า “ชาวเล” กลุ่มชนพวกโอรังลาโอดพวกนี้ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา และได้อพยพโยกย้ายไปอยู่ตามเกาะต่างๆ ริมฝั่งทะเลอันดามันตลอดเวลา จนได้ชื่อว่าผู้เร่ร่อนแห่งท้องทะเล (Sea Gypsy) ปัจจุบันยังคงมีชาวเลหลงเหลืออยู่ตามชายหาดของเกาะภูเก็ตหลายกลุ่ม เช่น บริเวณหาดราไวย์ แหลมกา เกาะสิเหร่ อ่าวสะปำ บ้านเหนือ และแหลมหลา (บ้านไม้ขาว) เป็นกลุ่มเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ชาวเลยังเป็นพวกเดียวที่ยังอาศัยอยู่ในภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน แต่วิถีชีวิต ค่านิยม และความเชื่อของชาวเลเปลี่ยนไปเพราะความเจริญ และวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงทำให้เป็นชาวเลยุคใหม่ เช่น การนับถือศาสนา การประกอบอาชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีชนชาติมอญที่เข้ามาอาศัยในภูเก็ต เช่นเดียวกับพวกอินเดียและพม่า เพราะลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีลักษณะเช่นเดียวกันกับชาวมอญที่มะริด โดยเฉพาะบ้านเรือนของคนไทยเชื้อสายผู้ดีในภูเก็ต และบ้านเรือนของชาวมุสลิมที่อาศัยตามชายทะเล นอกจากนี้วัดฉลอง (วัดไชยธาราราม) ยังมีเสาธงที่ประดับด้วยรูปหงส์ตามประเพณีมอญปรากฏอยู่ที่หน้าวัดมาตั้งแต่โบราณ เพิ่งมาถูกฟ้าผ่าทำลายลงเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้วแม้จะปรากฏหลักฐานว่า มีกลุ่มคนหลายชาติหลายภาษาเข้ามาอยู่ในภูเก็ต แต่ไม่มีหลักฐานทางศาสนาและสถานที่สำคัญเหมือนที่นครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพราะภูเก็ตเป็นเมืองเล็กๆ เหมาะที่จะแวะพักชั่วคราวเพื่อขุดหาแร่ดีบุก ซ่อมแซมเรือ และหาน้ำดื่มเท่านั้น

นายประสิทธิ ชิณการณ์ กล่าวไว้ในเอกสารเรื่อง ชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตในสมัยก่อนและปัจจุบันว่า คนไทยเริ่มอพยพเข้าสู่ภาคใต้เมื่อราว พ.ศ.500 มาอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ชาวอินเดีย ซึ่งมีอำนาจอยู่แถบจังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึง พ.ศ. 800 จึงได้ตั้งตนเป็นอิสระ ปกครองดินแดนภาคใต้แทนชาวอินเดีย และมีผู้ปกครองเป็นคนไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.183 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัยได้รวบรวมดินแดนภาคใต้ตลอดแหลมมลายูเอาไว้ในอำนาจ และเริ่มเข้าสู่ประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่นั้นมา

ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดภูเก็ต เป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติมาโดยตลอด ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และฝรั่งเศสเข้ามาตั้งห้าง เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับแร่ดีบุก ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์มีชาวตะวันตก ชาวจีน และชาวอินเดีย ได้เข้ามาทำมาหากิน ทำเหมืองแร่ในภูเก็ต และได้นำเอาวิทยาการใหม่ๆ เข้ามาเผยแพร่ ทำให้วัฒนธรรมภูเก็ตมีลักษณะหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การรับความเชื่อจากศาสนาฮินดู เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ การนับถือพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ เข้ามาผสมผสานกับการนับถือพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังรับภาษาพูดมาจากภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และ ภาษาจีน ขนบธรรมเนียมประเพณีจึงมีทั้งพิธีพุทธ พิธีพราหมณ์ พิธีจีน ผสมผสานเป็นวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ทั้งนี้เพราะมีคนต่างชาติต่างภาษาเข้ามามีอิทธิพลในภูเก็ตหลายพวกนั่นเอง

ภูเก็ตในอดีต เป็นสังคมชนบทที่อยู่รวมกันด้วยความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน พืชผล การให้ปันสิ่งของ แม้กระทั่งที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ภูเก็ตเป็นสังคมที่ผู้คนค่อนข้างจะเป็นตัวของตัวเองสูง พูดจาเสียงดังไม่เกรงใจใคร รักพวกพ้อง มักจะเรียกกลุ่มของตนตามหมู่บ้านที่อยู่ เช่น ชาวบางเหนียว ชาวสามกอง ชาวโรงอิฐ พวกบ้านส้าน บ้านพอน บ้านเคียน ฯลฯ ปัจจุบันสังคมภูเก็ตเปลี่ยนไปเป็นสังคมเมือง การช่วยเหลือเกื้อกูลแบบให้เปล่าเปลี่ยนเป็นการซื้อขาย ทุกอย่างกลายเป็นธุรกิจไปหมด ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันลดลง เกิดความระแวงหวาดกลัวว่า จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนแปลกหน้า ทุกคนจะเริ่มคำนึงถึงตนเองมากกว่าสังคมส่วนรวม สังคมภูเก็ตจึงเพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะการอพยพเข้าสู่ภูเก็ตของคนต่างถิ่นทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น สิ่งที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ ค่านิยม อิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น