ประเพณีงานศพ
ประเพณีงานศพแบบจีน ภูเก็ต |
งานศพไทย
มีพิธีอาบน้ำศพ และบรรจุหีบศพ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่กับบ้าน หรือถวายสังฆทานมีการเลี้ยงแขกหรือที่มาในงานศพ ทั้งอาหารคาวหวานและเครื่องดื่ม แขกส่วนใหญ่นิยมไปงานศพเวลากลางคืน ในเวลากลางวันเป็นเรื่องของหมู่ญาติ ซึ่งมาช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระ เมื่อถึงเวลาฌาปนกิจจะเคลื่อนศพไปเผายัง ฌาปนสถาน และมักใช้แรงงานญาติมิตรที่ใกล้ชิด ช่วยกันแบกหีบศพวน 3 รอบ ก่อนนำขึ้นสู่เตาเผาวันรุ่งขึ้นตอนเช้าตรู่ทำพิธีเก็บกระดูก บางคนนำกระดูกไปฝัง บางคนนำไปใส่สถูปที่จัดเตรียมไว้ บางคนนำไปลอยทะเล
งานศพจีน
หีบศพแบบจีน หรือ โลงจีนทำด้วยไม้ซุงทั้งท่อน โดยขุดเป็นหลุมให้ใส่ศพได้ เรียกว่าโลงหัวหมู มีการแต่งตัวผู้ตายและใส่ทรัพย์สินประจำตัวผู้ตายลงไปในโลงศพด้วยการตั้งศพบำเพ็ญกุศลนิยมตั้งศพไว้ที่บ้าน ก่อนนำไปฝังที่สุสานตามประเพณี ในการตั้งศพไว้ที่บ้าน บางคราวต้องปิดถนน เพื่อใช้เนื้อที่ของถนนวาง โต๊ะ เก้าอี้ กางเต้นท์ เพื่อรับรองแขกเหรื่อที่มาร่วมงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมไปร่วมงานในตอนกลางคืน พิธีกรรมมีทั้งพิธีสงฆ์นิกายหินยานและมหายาน หรือ พิธีสวดกงเต็ก การเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมในงาน เป็นเรื่องใหญ่ที่เจ้าภาพถือว่า จะต้องไม่ให้ขาดตกบกพร่อง อาหารที่ใช้เลี้ยงในงานศพมีทั้งคาวหวานและเครื่องดื่ม การเคลื่อนศพไปฝังนิยมใช้คนเป็นจำนวนมากช่วยกันหามโลงไปสุสาน โดยเฉพาะถ้าเป็นศพหรือญาติพี่น้องของเศรษฐีเหมืองแร่จะนำกุลีเหมืองมาช่วยหามโลงศพผลัดเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ ก่อนถึงหลุมฝังศพ นิยมนำไปฝังในสุสานของตระกูล สุสานกวางตุ้ง สุสานเขารัง ผู้ที่มาช่วยหามโลงศพจะได้รับ ของที่ระลึกถ้าเจ้าภาพมีฐานะจะเป็น อังเปา (เงินใส่ซองแดงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้นำ ช่วยงาน) หรือผ้าขาวม้าสีแดง ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ผูกโบว์สีแดง เป็นต้น
ก่อนเคลื่อนศพออกจากบ้าน จะต้องตั้งโต๊ะไหว้ศพ ของที่นำมาเซ่นไหว้ได้แก่ ไก่ หัวหมู หรือใช้หมูย่างทั้งตัว เส้นหมี่เหลือง เหล้าขาว ขนมครบชุด ผลไม้ ผัก โดยลูกหลานต้องออกมาทำความเคารพแบบจีน และกล่าวคำเชิญผู้ตายให้รับของดังกล่าว พิธีนี้ต้องกระทำให้เสร็จสิ้นก่อนเที่ยง เพราะนิยมเคลื่อนศพออกจากบ้านเวลาเที่ยง นอกจากนี้ลูกหลานจะต้องไว้ทุกข์โดยการสวมเสื้อผ้าเนื้อดิบ ไม่โกนหนวด ไม่ตัดผม และไม่รีดเสื้อผ้า เป็นเวลา 11 เดือน กับอีก 28-29 วัน จึงจะโกนหนวด ตัดผมได้ และเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อผ้าสีเขียวเรียกว่า “ผลัดเขียว” เป็นเวลา 99 วัน จึงเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อผ้าสีแดงและสีต่าง ๆ เรียกว่า “ผลัดแดง” เป็นอันสิ้นสุดการไว้ทุกข์ ปัจจุบันการไว้ทุกข์ไม่เคร่งครัด แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวแต่งกายไว้ทุกข์ เป็นเวลา 3 เดือนบ้าง 1 เดือนบ้าง หรือบางครอบครัวออกทุกข์ทันทีหลังเสร็จสิ้นงานศพ
ความเชื่อเกี่ยวกับการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายของภูเก็ต
ในสมัยก่อนนิยมจัดงานศพที่บ้านไม่ว่าคนไทยหรือคนจีน หากชาวจีนที่มีฐานะดีถึงแก่กรรมนอกบ้าน ก่อนนำศพเข้าบ้าน จะมีการว่าจ้างบุคคลที่มีลักษณะคล้ายผู้ตายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของผู้ตาย ทำทีเดินเข้าทางหน้าบ้าน ส่วนลูกหลานก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันปกติ เข้ามาทักทาย ใครเรียกเตี่ย เรียกก๋ง ก็เรียกเหมือนครั้งที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ เรียกให้นั่งยกน้ำชาให้ดื่ม สักครูจึงมีเสียงร้องไห้ รำพึงรำพันว่าผู้ตายเสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นจึงนำศพผู้ตายเข้าทางหลังบ้านแล้วจึงจัดการทำศพตามประเพณีต่อไป
แต่บางกระแสเล่าว่า มีการแต่งกายให้ผู้ตายเหมือนปกติเป็นประจำทุกวัน แล้วลูกหลานช่วยประคองผู้ตายเข้าทางหน้าบ้าน จัดให้นั่งในที่ๆ เคยนั่งประจำ แล้วจัดให้ผู้ตายนอนลง สักครู่ลูกหลานจึงร้องไห้รำพันถึงการเสียชีวิตของผู้ตาย
พิธีการเหล่านี้ เป็นความเชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคลรุ่งเรืองของลูกหลานสืบไป
งานศพมุสลิม
ชาวมุสลิมในภูเก็ต เมื่อถึงแก่กรรมลงจะทำพิธีศพและนำไปฝังที่สุสานภายใน 24 ชั่วโมง หลังการสิ้นชีวิต นายสุรชัย สาริยา เล่าว่า “พิธีอาบน้ำศพ น้ำอาบศพ จะใส่ใบพุทธา และพิมเสน ครั้นศพสะอาดแล้วจึงเอาสำลีปิดทวารทั้งห้า ห่อศพด้วยผ้าขาว 3 ชั้น โรยด้วยเครื่องหอม มีพิมเสน การบูร และกำยานผง แล้วนำศพไปทำพิธีละหมาด เพื่อขอพรให้แก่ผู้ตาย ก่อนพิธีละหมาด ลูกหลานของผู้ตายจะสอบถามแขกเหรื่อที่มาในงานว่า ผู้ตายมีหนี้สินกับใครบ้าง ต่อไปให้ติดต่อใช้หนี้กับลูกหลานคนใดคนหนึ่งแล้วแต่ละกำหนด หลังจากนั้นจึงนำศพไปที่สุสานเพื่อฝังในหลุมที่เตรียมไว้ วางศพลงบนพื้นดินในหลุม ตะแคงศพไปทางทิศตะวันตก เอาโลงศพที่ไม่มีพื้นท้องโลงครอบศพ แล้วจึงถมดินกลบและมีความเชื่อว่า การฝังศพห้ามเอาศพลงหลุมเวลาเที่ยงตรงกับช่วงตะวันโพล้เพล้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น