วัฒนธรรมการแต่งกายภูเก็ต
วัฒนธรรมการแต่งกายภูเก็ต |
เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งจูงใจให้คนในภูมิภาคต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง ฉะนั้นจังหวัดภูเก็ตจึงเป็นพหุสังคม มีวัฒนธรรมผสมผสานในหลายรูปแบบ แต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่มีปัญหาระหว่างกลุ่มชนทุกคนต่างก็ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาภูเก็ตให้เจริญก้าวหน้า และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้
เนื่องมาจากความหลากหลายของกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต ทำให้วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะพื้นฐานดั้งเดิมของชนกลุ่มนั้น เช่น กลุ่มชนชาวจีนที่อาศัยบริเวณถนนถลาง บางเหนียว และที่อำเภอกะทู้ กลุ่มชาวจีนบริเวณนี้จะมีวิถีชีวิตแบบคนจีน มีภาษาพูด มีประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาวจีนโดยเฉพาะ
กลุ่มชาวไทยพุทธ อาศัยกระจัดกระจายออกไปนอกตัวเมือง ปะปนอยู่ในหมู่คนจีนบ้างและที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นพวก เช่น คนไทยที่บ้านตะเคียน บ้านดอน บ้านพอน บ้านสาคูและบ้านเหรียง เป็นต้น
ชาวไทยมุสลิม อาศัยอยู่ริมทะเล บริเวณอ่าวมะขาว บ้านกมลา บ้านบางเทา บ้านคอเอน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบริเวณบ้านราไวย์ และเกาะสิเหร่ ฉะนั้นการศึกษาถึงลักษณะการแต่งกายของชาวภูเก็ตจะเป็นในรูปแบบใด ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเพียงอย่างเดียวนั้น คงจะเป็นการยากที่จะเจาะจงลงไป หากกำหนดการแต่งกายของชาวภูเก็ต จะต้องนำเอาการแต่งกายของกลุ่มคนชาวภูเก็ตมาประยุกต์เป็นแบบใหม่ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
ความเป็นมาของการแต่งกายชาวภูเก็ต ซึ่งจำแนกตามกลุ่มคนที่เข้ามาตั่งถิ่นฐานได้ดังนี้
กลุ่มชาวจีน กลุ่มแรกนั้นเป็นจีนโพ้นทะเลซึ่งอพยพมาจากประเทศจีนทางตอนใต้นื่องจากความแห้งแล้งจากภัยธรรมชาติ และสงครามกลางเมืองจีน (ราวปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19) ชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ออกมาแสวงโชค ส่วนชาวจีนที่เข้ามาทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนจากเมืองเอ้หมึง มาตั้งถิ่นฐานบริเวณภูเก็ต ตรัง ระนอง เข้ามาในฐานะกุลีรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นกุลีเหมือง บ้างก็ประกอบอาชีพประมง การแต่งกายในยุคนี้ก็เป็นการแต่งกายของชาวจีนเหมืองทั่วไป โดยใช้เสื้อผ้าสีดำ หรือน้ำเงินแก่ เนื้อหยาบ เรียก “ผ้าต่ายเสง” เนื่องจากชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย เมื่อมีที่อยู่มั่นคงขึ้น ส่วนหนึ่งจึงสมรสกับผู้หญิงไทยในภูเก็ต บ้างก็เดินทางไปรับครอบครัวมาจากเมืองจีนมาตั้งถิ่นฐานถาวรในภูเก็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น