วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต

การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต

การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต
การแต่งกายของบาบ๋าในภูเก็ต

บาบ๋า เป็นชื่อที่เรียกลูกผสมที่เกิดจากการแต่งงานระหว่างคนจีนกับคนไทยพื้นเมืองสำหรับลูกผสมที่เกิดจากคนจีนกับคนพื้นเมืองในมาเลเซีย จะเรียกผู้ชายว่า บาบ๋า และเรียกผู้หญิงว่า ย๋าย่า สำหรับในภูเก็ตจะเรียกว่าพวก บาบ๋า ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

การแต่งกายของผู้หญิงบาบ๋าในภูเก็ตนั้นมีวิวัฒนาการการแต่งกายดังนี้ ในสมัยเริ่มแรก ผู้หญิงบาบ๋านิยมแต่งกายด้วยชุดครุย เสื้อครุย มาเลเซียเรียกว่า บาจู บันจัง (Baju Panjang) เป็นเสื้อคลุมยาวครึ่งน่อง ทำด้วยผ้าป่านรูเบีย ผ้าฝ้าย หรือผ้าต่วนนิ่ม ๆ มีสีสันที่หลากหลาย สวมทับเสื้อสั้นคอตั้งสีขาว แขนยาว ตัวเสื้อมีกระดุม 5 เม็ด และกระดุมปลายแขนอีก 2 เม็ด ทำด้วยทองเรียกว่ากระดุมกินตู้น นุ่งโสร่งปาเต๊ะเครื่องแต่งกายชุดนี้นิยมแต่งในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ทรงผมนิยมทำผมแบบเกล้ามวยสูงหรือเรียกว่า เกล้ามวยชักอีโบย คือ ดึงผมด้านหน้าตึงเรียบ ด้านข้างโป่งออก 2 ข้าง เรียกว่า อีเปง ประดับมวยด้วยดอกไม้ไหว ปักด้วยปิ่นปักผมทองคำหรือนากปน

ในสมัยต่อมา ผู้หญิงบาบ๋าเปลี่ยนแปลงเสื้อเป็นเสื้อแบบ ยอย่า มาเลเซียเรียกว่า เคบายา (Kabaya) หรือที่นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปั่วตึ่งเต้ เป็นเสื้อสั้น ยาวประมาณสะโพก ไม่เข้ารูปจนเกินไป สวมชั้นเดียว ไม่มีเสื้อตัวในเหมือนชุดครุย เสื้อแบบนี้ในระยะแรกนิยมใช้ผ้าลูกไม้ต่อชายเสื้อและปลายแขน (Kabaya Renda) ระยะต่อมาใช้ลายฉลุชายเสื้อและปลายแขนแทนผ้าลูกไม้ (Kabaya Biku) และนิยมฉลุมากขึ้นไม่เฉพาะที่ชายเสื้อและริมปลายแขนเสื้อจะตัดเข้ารูปมากขึ้น

เครื่องประดับ ในระยะแรกยังคงนิยมใช้เข็มกลัดชุดที่เรียกว่า โกสัง ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการเป็นเข็มกลัดชุดแบบต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าชุดโกสัง เป็นรูปดอกไม้ใบไม้และรูปสัตว์ต่าง ๆ สวมกำไลข้อเท้า สวมรองเท้าแตะลูกปัด

สำหรับผู้ชาย จะแต่งกายแบบสากล สวมสูท ผูกเนคไทด์ รองเท้าหนัง

ทรงผม เป็นแบบทรงลานบิน (สีกั๊กท่าว) ตัดหางเปีย หรือทรงรองทรง เมื่อแต่งอยู่กับบ้าน นิยมสวมกางเกงขายาวหรือสั้น สวมเสื้อเชิ้ตหรืออาจเป็นเสื้อยืดคอกลม การแต่งกายของเด็ก เด็กผู้หญิงวัยรุ่นนิยมนุ่งกางเกงชุดเซี่งไฮ้ และ ตึงผ่าว (ชุดยาว) เต่ผ่าว (ชุดสั้น) ส่วนเด็กผู้ชายเล็ก ๆ ตอนกลางวันมักไม่นิยมสวมเสื้อผ้า นิยมเพียงผ้าคาดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม 1 ชั้น เรียกว่า ต้อ และแขวนลูกไข่ทองหรือเงิน เป็นสร้อยกระพรวนหรือเงินคาดสะเอวเด็ก สำหรับเด็กหญิงนิยมใส่ ปิ้ง (จับปิ้ง) ทำด้วยทองหรือเงิน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การแต่งกายแบบดั้งเดิมหมดไป ความเชื่อและค่านิยมเก่าๆ ค่อยเลือนหายไปจากสังคมชาวภูเก็ต ดังจะเห็นจากวัฒนธรรมการตั้งชื่อของชาวภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีน (Baba) ซึ่งจะต้องมีชื่อจีนทุกคน และใช้ชื่อนี้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เช่น เมื่อมีลูกผู้หญิงจะนิยมตั้งชื่อว่า บี้โง้ย บี้ห้าย สอจิ้น สอหงีม สอฉิ้ว ลูกผู้ชายก็จะชื่อ เช่งโป้ ฮวดหลาย เฉ่งบ่าน ฮกฮวด ฯลฯ และนามสกุลก็จะเป็นแซ่ปัจจุบันยังคงความเป้นจีนบ้าง โดยใช้ชื่อจีนที่บ้าน ที่โรงเรียนใช้ชื่อไทยและนามสกุลแบบไทยมากขึ้น จนปัจจุบันจะหาคนชื่อจีนนามสกุลจีนยากมากในสังคมภูเก็ต ยกวเน่ชาวภูเก็ตที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจจะยังเรียกชื่อจีนอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากคติชาตินิยม สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลูกต่างด้าวเสียสิทธิในการประกอบอาชีพ และผลประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนมาเป็นไทยทั้งชื่อและนามสกุลแต่บางคนยังคงนามสกุลเดิมไว้บ้าง เช่น ลิ่มสกุล เอี๋ยวพานทอง เป็นต้น เพื่อจะได้ทราบแซ่เดิมของตน

นอกจากนี้เนื่องจากการคมนาคมกับกรุงเทพฯสะดวกขึ้น ก็มีการโอนสัญชาติมาเป็นไทย เพื่อจะได้สิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนไทย การแต่งกายก็เป็นแบบสากลไปทั้งหมด อิทธิพลวัฒนธรรมจากภาคกลางเข้ามาแทนวัฒนธรรมจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ค่านิยมการส่งลูกไปเรียนที่ปีนังค่อย ๆ หมดไป คนภูเก็ตส่งลูกไปเรียนกรุงเทพฯแทนเกือบทุกบ้านนิยมให้ลูกหญิงลูกชายได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของบรรพบุรุษชาวจีนที่ว่า ผู้หญิงเรียนไปก็ไม่มีโยชน์ ดังนั้นลักษณะการแต่งกายแบบสากล และไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของคนกลุ่มอื่น ๆ กับคนไทยได้สะดวกนัก

กลุ่มคนไทย จัดได้ว่าเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เมื่อคนจีนจำนวนมากได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านทุ่งคา และที่อำเภอกะทู้ กลุ่มคนไทยก็ปะปนอยู่ในกลุ่มคนจีนเหล่านั้น แต่ไม่ค่อยมีบทบาทในสังคมเศรษฐกิจมากนัก เพราะคนจีนส่วนใหญ่มีฐานะดี สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากกว่า และมีวัฒนธรรมที่แข็งกว่าบทบาทของคนไทยในภูเก็ตจึงมีน้อย ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงการแต่งกายในภูเก็ต ทุกคนจึงมองภาพเฉพาะชุดของชาวจีนมากกว่าคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของถิ่นเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น