วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความเชื่อในท้องถิ่น

ชาวภูเก็ตมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา และสิ่งเร้นลับซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่น การตั้งศาลพระภูมิ โดยมีความเชื่อว่าศาลพระภูมิเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าที่ หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “เจ้าที่เจ้าทาง” เมื่อคนภูเก็ตเข้าครอบครองดินแดนบริเวณใด ก็มักจะทำพิธีบวงสรวงเพื่อเซ่นไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นสวัสดิมงคลและคุ้มครองผู้ที่อยู่อาศัย เมื่อสร้างศาลพระภูมิเสร็จก็จะทำพิธีอันเชิญดวงวิญญาณของเจ้าที่มาสถิต และบวงสรวงด้วยอาหารคาวหวาน ซึ่งมักนิยมทำพิธีในวันเสาร์หรือวันอังคารข้างขึ้น เดือนสี่ นอกจากนี้ ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนจะบูชาเทวดา ที่เรียกว่า “ถี่กง” ซึ่งอัญเชิญไว้ที่หิ้งเล็กๆ ติดไว้ที่เสาบ้านด้านซ้ายมือของตัวบ้าน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลประการเดียวคือ เพื่อให้คุ้มครองปกปักรักษาผู้อยู่อาศัยในบ้าน
ความเชื่อในท้องถิ่น
ความเชื่อในท้องถิ่น

ชาวภูเก็ตจะมีการปฏิบัติบางอย่าง เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของลูกหลาน เช่น ชาวภูเก็ตรุ่นเก่ามักจะห้ามมิให้ลูกหลานนอนในเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ โดยอ้างว่าตะวันจะข่มดวงตา (หวันขมตา) ตอนเย็นใกล้ค่ำจะไม่ออกมานั่งนอกบ้านหรือทักสิ่งใดๆ ที่ผิดปกติ เพราะเป็นเวลาที่ผี (วิญญาณ) ออกหากิน ให้เวลานั้นผ่านไปเสียก่อนจึงออกไปได้ ห้ามนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าคนตายเท่านั้นที่หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ห้ามขานรับเมื่อมีเสียงเรียกในเวลากลางคืน (ดึกๆ ) ห้ามกินผลไม้ที่มีโจแขวนอยู่ เพราะจะทำให้ท้องป่องไม่ยุบ และจะต้องตายในที่สุด ห้ามตัดเล็บในเวลากลางคืน เพราะผีหลังกลวงจะมาเก็บเล็บไปใส่หลังให้เต็ม ห้ามจ่ายเงินในช่วงเวลารับประทานอาหารเพราะเชื่อว่า ถ้าจ่ายในช่วงนั้นจะเก็นเงินทองไม่อยู่ เสร็จธุระเรื่องการกินเสียก่อนค่อยจ่ายเงิน หญิงมีครรภ์จะต้องเอาเข็มซ่อนปลายกลัดติดชายพกไว้เมื่อเวลาเกิดจันทรุปราคา ห้ามชมเด็กว่าน่ารัก สวย ดี ให้กล่าวว่า น่าเกลียดน่าชังแทน เพราะเกรงว่าภูติผีจะมานำตัวเด็กไป เชื่อว่าเด็กตัวร้อน ร้องไห้ และสะดุ้งบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุเกิดจากวิญญาณบรรพบุรุษมาทัก ความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ยากลางบ้าน ยาจากซินแส หรือยาจากการเข้าทรงของร่างทรง ในเรื่องนี้ ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ภูเก็ตก็ยังคงมีความนิยมอยู่ เช่น ไปเซียมซีขอยาจากศาลเจ้าต่างๆ เมื่อได้ชื่อยาก็จะมาเจียดยาที่ร้านขายยา บางสำนักซึ่งมีการเข้าทรงของวิญญาณต่างๆ จะมีการเตรียมยาต้มไว้ให้ผู้ป่วยอีกด้วย นอกจากนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับน้ำมนต์ของหลวงพ่อวัดฉลองที่สามารถรักษาโรคกระดูกได้เป็นอย่างดี ความศักดิ์สิทธิ์ของไม้เท้าหลวงพ่อวัดฉลองที่สามารถรักษาโรคได้ ชี้ให้ปานหรือเนื้องอกหายได้

ส่วนความเชื่อของชาวเล หรือ ชาวน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่นานจนกลายเป็นชาวภูเก็ตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นายสุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงประเพณีลอยเรือของชาวเกาะสิเหร่ว่า ประเพณีนี้เกิดจากความเสี่ยงภัยในการดำเนินชีวิตตามสภาพที่ชนกลุ่มนี้ต้องเผชิญอยู่ แม้ชาวเลจะได้สมญาว่า “เจ้าทะเล” แต่พวกเขาต้องผจญภัยในทะเลเกือบตลอดเวลา และเคยเอาชีวิตสังเวยทะเลเป็นจำนวนไม่น้อย คลื่นลมคือมัจจุราชที่ฉกาจ จึงต้องหันมาพึ่ง “พึ่ง” (ผีฟ้าพวกหนึ่งเชื่อว่าลงมาจากสวรรค์ อาศัยอยู่ในทะเล มีลักษณะเป็นดวงไฟมีสีต่างๆ ) คือ เทพเจ้าแห่งเกาะ ซึ่งเชื่อว่าอาจดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ ชาวเลจึงกระทำพิธีลอยเรือเพื่อขออำนาจเจ้าเกาะมาช่วยคุ้มครอง และขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากเกาะ เป็นความเชื่อที่เกิดเป็นนิสัยฝังลึกจนเกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ เริ่มตั้งแต่เสาะหาไม้มาต่อเรือ สลักตุ๊กตาเป็นฝีพาย การทำตุ๊กตาสะเดาะเคราะห์เท่าจำนวนสมาชิกในแต่ละครอบครัว และเข้าร่วมพิธีกรรมตามคำแนะนำของ “โต๊ะหมอ” ผู้นำในการทำพิธีลอยเรือ

ความเชื่อเรื่องการเกิดของชาวเล จะต้องจัดสิ่งของต่างๆ ใส่สอบราด (ราด หมายถึง การให้เงินตอบแทน) สำหรับตั้งราดให้แก่หมอตำแย เพื่อให้การคลอดปลอดภัย ได้แก่ ข้าวสาร 1 กระป๋องเล็ก ด้ายดิบ 1 ขด เทียน 1 เล่ม หมาก 5 คำ พลู 5 ใบ เงินแล้วแต่จะให้ ความเชื่อเรื่องการฝังศพ เมื่อฝังศพผู้ตาย 1 ศพ ต้องปลูกมะพร้าวไว้ 1 ต้น เพื่ออธิษฐานว่าบรรพบุรุษเมื่อตายไปแล้วชีวิตลูกหลานอยู่กันเป็นสุขหรือไม่ ถ้ามะพร้าวงอกงามดีแสดงว่ามีความสุข คนตาย 1 คน จะต้องใช้มะพร้าว 2 ผล ผ่าสังเวยการฝังศพ ศพของผู้ตายจะหันศีรษะไปทางทิศเหนือ เพื่อให้ตรงกันข้ามกับคนที่มีชีวิตอยู่ หลังจากไปร่วมงานศพแล้วล้างมือ ล้างเท้า ให้สะอาด มิฉะนั้นวิญญาณของผู้ตายจะมาหลอกหลอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น