วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นายประสิทธิ ชิณการณ์

นายประสิทธิ ชิณการณ์

นายประสิทธิ ชิณการณ์
นายประสิทธิ ชิณการณ์

นายประสิทธิ ชิณการณ์ เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรมภาคใต้ สาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.2530 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นับเป็นบุคคลคนแรกของภูเก็ตที่ได้รับรางวัลนี้ ในปี พ.ศ.2538 ท่านได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวัฒนธรรมศึกษา ได้รับโล่และเกียรติบัตร ในฐานะนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นดีเด่น จากมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร

ประวัติการศึกษาและผลงาน

พ.ศ.2480 จบมัธยมปีที่ 1 จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย
พ.ศ.2484-2487 เป็นครูประชาบาลโรงเรียนประชาบาลตำบลราไวย์ (วัดสว่างอารมณ์) อ.เมือง จ.ภูเก็ต
พ.ศ.2487-2493 ทำงานส่วนตัวในสวนยางพาราที่ตำบลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต
พ.ศ.2493-2494 เป็นสมุห์บัญชีบริษัทโฮ่ยเซี้ยง จำกัด และบริษัทในเครือ
พ.ศ.2495-2532 เป็นเลขานุการบริษัทโฮ่ยเซี้ยง จำกัด และบริษัทในเครือ
พ.ศ.2509 เป็นกรรมการดำเนินงานจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
พ.ศ.2523-2525 เป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต (คนแรก)
พ.ศ.2527-2534 เป็นประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต ครั้งที่ 2
พ.ศ.2529-2530 เป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต
พ.ศ.2535-ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาของกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ
พ.ศ.2546 ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ในฐานะผู้อุทิศตนทำประโยชน์แก่ชุมชนในภาคใต้ และได้รับเข็มประกาศเกียรติคุณ “คนดีศรีภูเก็ต” ประจำปี พ.ศ.2546
เมื่อ พ.ศ.2505 นายอ้วน สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มอบจดหมายของท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งถ่ายสำเนาจากประเทศอังกฤษจำนวน 6 ฉบับ ให้นายประสิทธิ ชิณการณ์ อ่านและเผยแพร่ ทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจ จึงได้ประพันธ์ร้อยกรอง “ยอดนารีศรีถลาง” ซึ่งมีเนื้อร้องดังนี้

ยอดนารีศรีถลาง
ยอดเอ๋ยยอดนารี นามท้าวเทพกระษัตรีศรีถลาง
กับท้าวศรีสุนทรอ่อนสำอาง เป็นตัวอย่างกุลสตรีผู้ดีงาม
องอาจหาญต้านไพรีเช่นวีรชาติ ชาญฉลาดรอบรู้ศัตรูขาม
เสียสละความสุขตนเป็นผลตาม ให้เกิดความดีอยู่คู่เมืองเอย
ดอกเอ๋ยดอกจันทร์กะพ้อ แผ่กิ่งก้านบานช่อพุ่มสาขา
ส่งกลิ่นหอมเยือกเย็นเป็นอัตรา ปวงประชาสุขสมปรารมภ์รัก
มุกเอ๋ยมุกดาวดี ปลอดไฝฝ้าราคีสมศรีศักดิ์
งามเด่นอยู่คู่เมืองรุ่งเรืองนัก เป็นประจักษ์พยานที่ความดีเอย

นายประสิทธิ ชิณการณ์ ได้มอบบทร้อยกรองต้นแบบข้างต้นให้นายประพันธ์ ทิมเทศ จัดทำทำนองแล้วปรับปรุงให้เป็นเนื้อร้อง กลายเป็นเพลงประจำจังหวัดภูเก็ต ที่เริ่มความว่า “ท้าวเทพกระษัตรีศรีสุนทร นามกรยอดนารีศรีถลาง เป็นทวีที่ควรเทิดน้ำใจนาง และตัวอย่างกุลสตรีนารีสมัย”

นายประสิทธิ ชิณการณ์ เป็นนักประพันธ์เรื่องสั้นที่มีสำนวนการเขียนแนวเดียวกับไม้เมืองเดิม และ ยาขอบ ช่วงแรกส่งลงพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารสวนอักษร ประมวญสาส์นและเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 ส่งลงพิมพ์ใน นิตยสารแม่บ้านการเรือน เช่น สองหญิงยังไม่สิ้นซากรัก สาปสวรรค์ บางนอน ยักษ์ไม่มีเขี้ยว ทำเพื่อใคร ซอยตลิ่งชัน ผู้ร้ายที่รัก วิมานนิมิต ค.ร.น หมอเจิดตัดสินใจ

นอกจากเรื่องสั้นแล้ว นายประสิทธิ ชิณการณ์ ยังได้เรียบเรียงบทความและข้อเขียนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานวัฒนธรรมทุกสาขาให้หน่วยงานต่าง ๆ และลงพิมพ์ในหนังสือปักษ์ใต้ และหนังสืออื่น ๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา ผลงานเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่องานวัฒนธรรมและการศึกษา เช่น ชีวิตไทยถิ่นภูเก็ต บทละครอิงประวัติศาสตร์แสดงทางโทรทัศน์เรื่อง ยอดนารีศรีถลาง และ ถลางแตก บทความทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ประเพณีกินผัก ประเพณีพ้อต่อ อาถรรพ์หลวงพ่อแช่ม เชี้ยม สันนิษฐานเรื่อง ยี่เกรำมะนา ประวัติศาสตร์ย้อนรอยตัวเอง : ดีบุก ชนวนจลาจลเมืองภูเก็ต เหมืองแร่ รองเง็งชาวเล ภูเก็ตในทัศนะของชาวเกาหลี ฯลฯ ปริวรรตจดหมายเหตุเมืองถลาง อันเป็นต้นเหตุให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร เป็นต้น งานประพันธ์เรื่องที่ยาวที่สุดคือ นวนิยายเกร็ดพงศาวดารเมืองถลาง เรื่อง ชีวประวัติของพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหงเจ้าพระยาถลาง ลงพิมพ์ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ เป็นครั้งแรกตั้งแต่ฉบับที่ 2001 ปีที่ 31 ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2526 นวนิยายเรื่องนี้ได้สอดแทรกประเพณีในเมืองถลางไว้มากมาย เช่น การบวช การแต่งงาน การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การต้อนรับแขกและคนอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะให้อรรถรสทางภาษาและเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์แล้วผู้อ่านยังได้รับความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของเมืองถลางอย่างจุใจ นับได้ว่าเรื่องราวของพระยาเชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เป็นนวนิยาย เรื่องเดียวที่ประมวลสรรพความรู้ของเมืองถลางไว้ได้มากที่สุด

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตขึ้นในวิทยาลัยครูภูเก็ต (มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต) ได้เสนอโครงการศึกษา ค้นคว้า รวบรวม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูเก็ต ได้เชิญนายประสิทธิ ชิณการณ์ และนายสกุล ณ นครซึ่งเป็นอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต มาเป็นที่ปรึกษากรรมการดำเนินงาน จากการประชุมกันหลายครั้ง จึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็น “กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ” ที่ประชุมกลุ่มเสนอให้ นายประสิทธิ ชิณการณ์ เป็นประธานกลุ่มคนแรก ในปี พ.ศ.2527 ได้จัดโครงการจัดงานฉลอง 200 ปี วีรสตรีเมืองถลาง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อฟื้นฟูเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยการจัดมหกรรมแสงเสียงทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
2. เพื่อผลิตเอกสารทั้งภาษาไทย-อังกฤษ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองถลาง
3. เพื่อให้ประชาชน และเยาวชน ได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น
4. เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามสำหรับประชาชน เยาวชน ได้สำนึกถึงความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหมือนที่บรรพบุรุษได้เคยต่อสู้ และเสียสละมาในอดีต
5. เพื่อเผยแพร่และเสริมสร้างคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้ปรากฏแก่คนในชาติและชนต่างชาติอย่างกว้างขวาง
6. เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน อันเป็นการเพิ่มพูนคุณภาพของประชาชนและเยาวชนได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

โครงการนี้ประกอบด้วยโครงการย่อย คือ โครงการสัมมนาทางวิชาการเรื่องประวัติศาสตร์ถลาง โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง โครงการจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ถลาง โครงการมหกรรมแสงเสียงประกอบละครเรื่อง “เลือดถลาง” และโครงการทัศนศึกษาเมืองโบราณ

ปัจจุบันท่านยังเป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ และเรื่องราวต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ตได้เป็นอย่างดี มีผลงานทางวิชาการและเรื่องสั้น ที่เป็นเอกสารอ้างอิงขณะนี้ได้แก่ หนังสือเรื่อง “ซินแขะเมืองทุ่งคา” “ถลาง ภูเก็จ และ ภูเก็ต” และ “จดหมายเหตุเมืองถลาง” นายประสิทธิ ชิณการณ์ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ขุมทรัพย์วัฒนธรรมภูเก็ต”

1 ความคิดเห็น:

  1. ระลึกถึงท่านเสมอ ผู้เป็นขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมของเมืองภูเก็จ

    ตอบลบ