วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การทำเหมืองแร่ดีบุกภูเก็ต

การทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต ชาวโปรตุเกสได้เข้ามายังประเทศไทยราว พ.ศ.2061 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งนอกจากจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์แล้ว ยังมีผลประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ การค้าขาย และสินค้าที่สำคัญ คือ ดีบุก ต่อมาชาวฮอลันดาได้เข้ามาผูกขาดซื้อแร่ดีบุกที่นครศรีธรรมราช (ซึ่งรวมภูเก็ตด้วย เพราะสมัยนั้นภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นอยู่กับนครศรีธรรมราช) จนถึงปี พ.ศ. 2213 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ชาวฮอลันดาทำกิจการอยู่ได้ไม่นานก็ถูกชาวเมืองก่อการจลาจล ไล่ฆ่าฟันชาวฮอลันดาตายลงเกือบหมด เนื่องจากชาวฮอลันดาเอารัดเอาเปรียบชาวเมืองมากเกินไป ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.2228 และปี พ.ศ.2230 ชาวฝรั่งเศสมาขอผูกขาดการซื้อแร่ดีบุกที่เมืองภูเก็ตและเมืองใกล้เคียง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการค้าดีบุกอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏในจดหมายเหตุเมืองถลาง ซึ่งท่านผู้หญิงจัน (ท้าวเทพกระษัตรี) ได้มีจดหมายเกี่ยวกับการติดต่อซื้อขายดีบุกกับ กัปตันฟรานซีส ไลท์ และการขุดแร่ดีบุกในสมัยนั้นใช้แรงคนเป็นสำคัญ การผลิตไม่เพียงพอกับการส่งออก แต่ก็จัดเป็นรายได้ที่สำคัญของชาวภูเก็ตมาโดยตลอด การทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตก็เปลี่ยนไปเป็นเหมืองหาบ

การทำเหมืองหาบชนิดนี้สามารถผลิตแร่ดีบุกได้มากกว่าวิธีดั้งเดิม แต่ต้องใช้กรรมกรเป็นจำนวนมาก กรรมกรในภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นกรรมกรจีนมาจากปีนัง การทำเหมืองแร่เดิมนั้นจะทำกันบริเวณเมืองถลาง บ้านสะปำ ต่อมาได้ย้ายกิจการมายังอำเภอกะทู้ และบ้านทุ่งคา อันเป็นแหล่งแร่ที่สำคัญ (บ้านทุ่งตา คือ อำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน)

การทำเหมืองแร่ดีบุกภูเก็ต
การทำเหมืองแร่ดีบุกภูเก็ต

ต่อมาในปี พ.ศ.2450 กัปตันไมล์ ชาวออสเตรเลีย ได้นำเรือขุดแร่ในทะเลลำแรกเข้ามาในอ่าวทุ่งคา การค้าแร่ดีบุกของภูเก็ตเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในสมัยพระยารัษฏานุประดิษฐ์ฯ ต่อมาการทำเหมืองก็ได้พัฒนาจากเหมืองหาบมาเป็นเหมืองสูบ หลวงอนุภาษภูเก็ตการได้เปิดเหมืองสูบที่ใช้ไฟฟ้าจากโรงจักร กลาง นับเป็นเหมืองสูบแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต คือ เหมืองเจ้าฟ้า การทำเหมืองแร่ดีบุกได้หยุดชะงักลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ครั้นภาวะสงครามสิ้นสุดลง ธุรกิจการทำเหมืองแร่ดีบุกได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยลำดับ การทำมาหากินของชาวภูเก็ต ได้อาศัยแร่ดีบุกเป็นเครื่องยังชีพมาโดยตลอด ฐานะทางเศรษฐกิจจึงค่อนข้างดี ต่อมากิจการเหมืองแร่ซบเซาจนต้องปิดกิจการไปในที่สุด เนื่องจากจำนวนแร่ดีบุกในภูเก็ตลดลง จำนวนแร่ที่ขุดได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เศรษฐกิจภูเก็ตซบเซาอยู่ได้ไม่นาน กิจการใหม่ที่ทำรายได้ให้กับภูเก็ตไม่แพ้ดีบุก คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น