วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นายประชา ตัณฑวนิช

นายประชา ตัณฑวนิช

นายประชา  ตัณฑวนิช
นายประชา  ตัณฑวนิช

นายประชา ตัณฑนิช เป็นเจ้าของคฤหาสน์ “บ้านชินประชา” ถนนกระบี่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเก่า เป็นผู้เก็บรักษามรดกเก่าล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุอีกมากมาย เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ

นายประชา ตัณฑวนิช เป็นชาวภูเก็ต เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2472 เป็นบุตรของ ขุนชิณสถานพิทักษ์ ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนปลูกปัญญา และระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จากนั้นได้ไปศึกษาที่ ประเทศสิงคโปร์ และฝึกฝนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อกลับประเทศไทย ได้เริ่มทำงานครั้งแรกที่เหมืองแร่ที่บางเทาเมื่อปี พ.ศ.2486 จากนั้นได้เป็นผู้จัดการเหมืองแร่ที่บางเนียง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นหัวหน้าฝ่ายระเบิดหินที่ บริษัทบูรพาเศรษฐกิจ และย้ายไปอยู่ที่ บริษัทฟาร์อีสต์คอนสตรัคชั่น เคยเป็นครูพละที่โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา เมื่อออกจากการเป็นครูแล้ว ไปเป็นหัวหน้าสำรวจแร่ตามจังหวัดต่างๆ หลายแห่ง

ผลงานที่สำคัญ

1. อนุรักษ์คฤหาสน์ “บ้านชินประชา” อันเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของจังหวัดภูเก็ต ให้คงความสมบูรณ์ เพื่อเก็บไว้ให้ผู้สนใจที่จะศึกษาได้เข้าไปศึกษาโดยไม่คิดมูลค่า พร้อมให้คำอธิบายความเป็นมาอย่างเป็นกันเอง
2. สะสมโบราณวัตถุอันมีค่าทางวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องเงิน เงินเหรียญ เครื่องเคลือบ โต๊ะ เก้าอี้ โอ่ง เสื้อผ้า เสี่ยหนา เตียงโบราณ รองเท้าโบราณ วัตถุโบราณเหล่านี้เป็นเครื่องใช้ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน การได้เข้าไปศึกษาบ้านของ นายประชา จะสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพบ้านเรือนของชาวภูเก็ตในอดีตได้อย่างชัดเจน นับเป็นแหล่งวิทยาการสำคัญอีกแห่งหนึ่งในท้องถิ่น

จากการที่นายประชามีบ้านที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุอื่นๆ ทำให้นายประชาได้รับการติดต่อจากนิตยสารสารคดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจะจัดทำสารคดีทางวิชาการออกเผยแพร่สู่สายตาประชาคมโลก นอกจากนี้ ภาพยนตร์ต่างประเทศหลายบริษัท มาขอความร่วมมือจากนายประชาเพื่อใช้บ้านเป็นฉากในการถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Golden Village และ Heaven and Earth บ้านชินประชา จึงเป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจในการอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุ ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทุกครั้งที่มีผู้มาติดต่อเข้าชม นายประชาและภรรยาจะพยายามปลีกตัวจากธุรกิจมาให้คำอธิบาย และต้อนรับด้วยตัวเองเสมอ

จึงนับได้ว่า นายประชา เป็นบุคคลที่ได้อุทิศตน เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริง ได้รับพระราชทานโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ในฐานะนักอนุรักษ์พิทักษ์วัฒนธรรมไทย จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ.2537 นายประชา ตัณฑวนิช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น