วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การคมนาคมภูเก็ต

การคมนาคมภูเก็ต

ทางบก ในอดีตการคมนาคมทางบกไม่สะดวกสบายดังเช่นปัจจุบัน ทางหลวงสายสำคัญที่เข้าสู่กรุงเทพฯ ยังไม่เรียบร้อย บางตอนเป็นถนนดิน ครั้นถึงช่วงฤดูฝนถนนเต็มไปด้วยโคลนเลน ทำให้การเดินทางล่าช้าเสียเวลาประมาณ 2-3 วัน ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะ รถยนต์ไม่สามารถข้ามช่องแคบปากพระไปได้ ต้องรอแพขนานยนต์ข้ามฟากระหว่างท่าฉัตรไชยกับท่านุ่น ทำให้ต้องเสียเวลามากขึ้น ทำให้ผู้เดินทางไม่สามารถกำหนดเวลาในการเดินทางที่แน่นอนได้ การคมนาคมระหว่างภูเก็ต-พังงาสะดวกขึ้นมาเมื่อมีการสร้างสะพานสารสิน ซึ่งนับเป็นสะพานข้ามจังหวัดแห่งแรกของภูเก็ต ที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะภูเก็ต และเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2510

ทางหลวงสายสำคัญที่จะเข้าสู่ภูเก็ต คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 (ทางหลวงสายเพชรเกษม) จากกรุงเทพฯ – อำเภอโคกกลอย แยกเข้าสู่ภูเก็ต โดยผ่านสะพานท้าวเทพกระษัตรี มาบรรจบกับถนนเทพกระษัตรีอันเป็นถนนสายสำคัญและยาวที่สุดของจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีถนนรอบเกาะ เพื่อความสะดวกในการคมนาคมติดต่อกับชนบทที่ไกลตัวเมือง และเพื่อความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปพักผ่อนยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ทุกอำเภอ ทุกตำบล มีถนนตัดผ่านทุกแห่งจนกล่าวได้ว่า การคมนาคมในจังหวัดภูเก็ตสะดวกสบาย

การเดินทางโดยรถยนต์ ระหว่างภูเก็ต สู่ กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น หาดใหญ่ พัทลุง ตรัง สตูล กระบี่ พังงา ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเกาะสมุย มีรถโดยสารประจำทางทั้งที่เป็นชนิดปรับอากาศ ปรับอากาศแบบพิเศษ รถโดยสารชนิดธรรมดา และรถตู้ปรับอากาศ ออกจากภูเก็ตทุกวัน

ส่วนการคมนาคมในตัวเมือง จะมีรถตุ๊กๆ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถสองแถวประจำทาง (รถผ้อถ้อง) รถเมล์ปรับอากาศ ตลอดจนบริการของรถนำเที่ยวที่มีบริการมากมายในจังหวัดภูเก็ต

ทางเรือ ภูเก็ตมีท่าเรือที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อจังหวัดใกล้เคียง และต่างประเทศดังนี้

ท่าเรือนเรศ เป็นท่าเรือในอดีตที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดภูเก็ต สันนิษฐานว่าเคนตั้งอยู่ประมาณหลังห้องสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน หลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบันคือคลองน้ำเล็กๆ และซากเรือที่หลงเหลืออยู่บริเวณด้านหลังห้องสมุดประชาชน ตลอดจนด้านข้างของด่านศุลกากร ปัจจุบันท่าเรือแห่งนี้ไม่ใช้แล้ว เพราะลำคลองมีสภาพดินโคลนตื้นเขิน

ท่าเรือบางงั่ว ปัจจุบันเป็นแพปลา ส่วนหนึ่งเป็นท่าเรือรับส่งนักท่องเที่ยว ในอดีตเป็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากภูเก็ตไปกระบี่และตรัง ชาวภูเก็ตที่ต้องการจะเดินทางไปกรุงเทพฯ มักนิยมลงเรือ ที่ท่าแห่งนี้แล้วไปขึ้นรถไฟที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อไปกรุงเทพฯ

ท่าเทียบเรือน้ำลึกอ่าวมะขาม เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต ก่อสร้างโดยการถมทะเล สามารถรองรับเรือขนถ่ายสินค้าที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 210 เมตร กว้าง 25 เมตร กินน้ำลึกไม่เกิน 10 เมตร (จากระดับน้ำทะเลต่ำสุด) สินค้าที่ขนถ่ายส่วนใหญ่ได้แก่ ปลาแช่แข็ง วัสดุก่อสร้าง ยางพารา น้ำยางข้น และอาหารแช่แข็ง และเทียบเรือท่องเที่ยวที่มีขนาดความยาว 280 เมตร ท่าเรือนี้สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2531

ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล จึงจำเป็นต้องมีท่าเรือที่ทันสมัย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมธรรมชาติทางทะเล และนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือส่วนตัวมาแวะพัก เพื่อเติมน้ำจืด อาหาร ปัจจุบันท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวมีหลายแห่งด้วยกัน เช่น ท่าเรือรัษฏา ท่าเรืออ่าวฉลอง ท่าเรือบางโรง ท่าเรือแหลมหิน ท่าเรือบางงั่ว เป็นต้น

ทางอากาศ จังหวัดภูเก็ตมีสนามบินนานาชาติอยู่ที่บ้านไม้ขาว อำเภอถลาง เดิมเป็นท่าอากาศยานที่ใช้ในกิจการทหาร และอยู่ในความดูแลของกองทัพอากาศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ได้รับการปรับปรุงต่อเติม และขยายทางวิ่ง และอาคารผู้โดยสาร จนได้รับการยกฐานะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2532 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้โอนท่าอากาศยานภูเก็ตเข้าสู่ระบบธุรกิจโดยรัฐวิสาหกิจ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยจึงได้รับกิจการมาดำเนินการเป็นแห่งที่ 3 ต่อจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 253 ยกเว้น 3 ประเภท คือ งานบริการโทรคมนาคมการบิน งานวิทยุเครื่องช่วยเดินอากาศ และงานควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น