วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีกินผัก

ประเพณีกินผัก
ประเพณีกินผัก
ประเพณีกินผัก

ประเพณีกินเจ ซึ่งชาวภูเก็ตเรียกว่า “งานกินผัก” หรือ “เจี๊ยะฉ่าย” จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ของจีน ซึ่งตรงกับเดือน 10 ของไทย ประเพณีกินผัก เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ต ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน เริ่มมีการจัดขึ้นครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวจีนเข้ามาทำเหมืองแร่อยู่เป็นจำนวนมาก

ประเพณีกินผักนี้ สืบเนื่องมาจากชาวจีนในภูเก็ต ต้องการที่จะดำรงประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายต่าง ๆ จึงได้ส่งตัวแทนไปน้ำขี้เถ้าและควันธูป (จุดธูปต่อเนื่องกันมา) ที่มณฑลกังไส ประเทศจีนนำมาบูชาที่ศาลเจ้ากะทู้เป็นแห่งแรก มีการเซ่นไหว้บวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพชนและเซียน อันประกอบด้วยนักรบต่าง ๆ มีการทรงเจ้าองค์ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละองค์ก็มีอภินิหารต่าง ๆ กัน ประเพณีกินผัก จึงเป็นประเพณีซึ่งมีการผสมผสานความเชื่อของชาวจีนในลัทธิต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื้อ การนับถือเทพเจ้าบนพื้นดินบนสวรรค์ พระอิศวรผู้ยิ่งใหญ่ในจักรวาล และพุทธศาสนามหายาน

ประเพณีกินผักมีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผู้ร่วมพิธีจะสวมชุดขาว งดการบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

การประกอบพิธีกรรมในประเพณีกินผัก ทั้งที่ศาลเจ้าและที่บ้าน ผู้ที่จะกินผักที่บ้านของตนเองนั้น จะเริ่มต้นด้วยการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จะใช้ประกอบอาหารจนหมดกลิ่นคาว หรือใช้ภาชนะชุดใหม่ในการประกอบอาหารเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า “เช้ง” ส่วนผู้ที่ประกอบพิธีจะไปรับประทานอาหารที่โรงครัวของศาลเจ้า การกินผักจะมี 9 วัน แต่ผู้ที่ร่วมกินผักนั้นอาจจะสมัครใจกิน 3 วัน 5 วัน หรือทั้ง 9 วัน ก็ได้ ผู้ที่จะกินผักจะต้องตามไปเคารพสักการะเทพเจ้าที่ศาลเจ้า (อ๊าม)

พิธีกินผักที่ศาลเจ้าจะเริ่มต้นด้วยการยก เสาโกเต้ง (เป็นเสาธงสูงปลายเสาเป็นไม้ไผ่แขวนตะเกียงน้ำมัน 9 ดวง) อันหมายถึงดวงวิญญาณของกิวอ๋องไต่เต่ คำว่า กิวอ๋องไต่เต่ หมายถึง เทพเจ้า 9 องค์ ในช่วง 9 วันนี้ จะมีพิธีย่อย ๆ หลายอย่าง เช่น

พิธีบูชาเจ้า มีการบูชาด้วยเครื่องเซ่น ทั้งที่ศาลเจ้าและที่บ้านของผู้ที่กินผักทำในวันแรกของพิธี

พิธีโขกุ้น เป็นการเลี้ยงทหาร จะทำในวันขึ้น 3 ค่ำ 6 ค่ำ 9 ค่ำ หลังเที่ยงมีการเตรียมอาหาร เหล้า สำหรับเซ่นสังเวยทหารปละม้าศึก

พิธีซ้องเก็ง เป็นการสวดมนต์ จะสวดวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ

พิธีบูชาดาว จะทำในคืนวันขึ้น 7 ค่ำ มีการแจกฮู้ (กระดาษยันต์สีเหลือง) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้กินผัก

พิธีแห่พระ พระจะออกเดินไปตามท้องถนนเพื่อโปรดสัตว์ มีเกี่ยว (เก่ว) หามพระบูชาต่าง ๆ ไปตามถนน ในขณะที่ขบวนผ่านชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชา และจุดประทัดต้อนรับขบวนที่ผ่านมา พิธีลุยไฟ (โก๊ยโห้ย) เป็นการแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของพระ ที่สามารถบังคับไฟไม่ให้ร้อน และถือว่าเป็นไฟที่ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ได้

พิธีโก๊ยห่าน จะกระทำหลังพิธีลุยไฟ ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องเตรียมสิ่งของต่อไปนี้ คือ กระดาษตัดเป็นรูปตนเองเขียนชื่อกำกับเอาไว้ ผักกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น และเงิน ผู้เข้าร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์จะต้องนำของเหล่านี้ผ่านผู้เข้าทรง ซึ่งยืนอยู่สองข้างทางเดิน เอาสิ่งของมอบให้ผู้เข้าทรง ผู้เข้าทรงจะประทับตราสีแดงด้านหลังเสื้อที่สวม ซึ่งเรียกว่า “ต๊ะอิ่น”

พิธีส่งพระ กระทำในวันสุดท้ายของการกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดาหรือเง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งจะส่งกันที่หน้าเสาธง ส่วนกลางคืนจะส่งพระกิวอ๋องฮุดโจ้วกลับไปสู่สวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ตะเกียงที่แขวนอยู่บนเสาโกเต้งจะถูกลดลง และทหารที่เรียกมาก็จะถูกส่งกลับ เป็นอันเสร็จพิธี

การกินผักในภูเก็ต จะคับคั่งไปด้วยผู้คนที่มาร่วมพิธีนี้ ทุกศาลเจ้าจะมีการประกอบอาหารแจกจ่ายราษฎรทุกวัน การได้กินข้าวในศาลเจ้า ถือว่าเป็นเสมือนยาที่จะรักษาโรคผู้เจ็บป่วยได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น