วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บ้านพระยาวิชิตสงคราม (ทัต)

บ้านพระยาวิชิตสงคราม (ทัต)

บ้านพระยาวิชิตสงคราม (ทัต)
บ้านพระยาวิชิตสงคราม (ทัต)

“กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ” ได้ค้นคว้าหาหลักฐานพบว่า กองอิฐหักบริเวณตรงข้ามโรงเรียนวัดท่าเรือนั้น เป็นศาลาว่าการเมืองภูเก็ต และบ้านของพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) สร้างขึ้นเมื่อครั้งเกิดศึกวุ่นจีน (ศึกอั้งยี่) ปี พ.ศ.2419 ในที่ดินมรดกของเจ๊ะมะ (เจิม) ผู้เป็นเจ้าเมืองถลางท่าเรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2452 และทรงบันทึกเล่าไว้ ว่า

ขากลับแวะทอดพระเนตรบ้านท่านพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต ที่ตำบลท่าเรือ บ้านนี้ท่านพระยาวิชิตไปสร้างขึ้นเมื่อครั้งจีนกระทำการตั้วเหี่ยขึ้นที่เมืองภูเก็จ ท่านพระยาวิชิตเห็นว่า จะอยู่ในเมืองภูเก็จใกล้ภัยอันตรายนัก จึงไปสร้างบ้านขึ้นที่ท่าเรือ สำหรับเป็นที่เลี่ยงไปอยู่ มีกำแพงแข็งแรงราวกับกำแพงเมือง มีใบเสมาตัดสี่เหลี่ยม มีป้อมวางเป็นระยะๆ รอบ เตรียมรบเจ๊กอย่างแข็งแรง ภายในได้ก่อตึกรามขึ้นไว้ภายหลัง แต่ปรักหักพังเสียเกือบหมดแล้ว ยังเหลือพอเป็นรูปอยู่แต่ทิมแถวที่สำหรับพวกหญิงละครอยู่ มีสระสำหรับแม่ละครลงเล่นน้ำ

ในเนื้อหาในป้ายบันทึกประวัติศาสตร์มีว่า

บ้านเจ้าเมืองภูเก็จ พระยาวิชิตสงคราม พระยาถลาง (เจิม) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เป็นเจ้าเมืองอยู่ที่นี่ประมาณ พ.ศ. 2352 – 2380 บุตรชายชื่อแก้วไปเป็นพระภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ ณ บ้านกะทู้ บุตรชายพระภูเก็จ (แก้ว) ชื่อ ทัต ไปเป็นพระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองภูเก็จ ณ บ้านทุ่งคา เมื่อเกิดวุ่นจีน พ.ศ. 2419 จึงย้ายมาสร้างบ้านในที่ดินของปู่ ณ บริเวณบ้านท่าเรือ ซึ่งเคยเป็นท่าเรือสำคัญของเมืองถลาง เรือสำเภาสามหลักเข้าเทียบได้ รัชกาลที่ 6 เสด็จมาเมื่อ 27 เมษายน 2452 (ร.ศ.128)

ทรงบันทึกไว้ว่า “มีกำแพงแข็งแรงราวกำแพงเมือง มีใบเสมาตัดสี่เหลี่ยม มีป้อนวางเป็นระยะ........ ตึกรามหลายหลัง ......... มีสระสำหรับแม่วางละครลงเล่นน้ำ”
พระยาวิชิตสงคราม (ทัต)
พระยาวิชิตสงคราม (ทัต)

จังหวัดภูเก็ตได้เห็นความสำคัญของบ้านพระยาวิชิตสงคราม จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการดูแลบริเวณบ้านพระยาวิชิตสงครามซึ่งมีเนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและรวบรวมวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร และปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นหลายหลัง ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาและเยี่ยมชมได้ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทำการตรวจสอบที่ดินบ้านพระยาวิชิตสงครามอย่างจริงจัง และเห็นว่าสถานที่นี้มีความสำคัญต่อแผ่นดิน

องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตได้สนับสนุนทุนในการสร้างป้ายบอกสถานที่ และความเป็นมาของสถานที่นี้ การบูรณะซ่อมแซมได้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง 200 ปี วีรสตรีเมืองถลาง ซึ่งเป็นผลให้จังหวัดภูเก็ต ได้รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดดีเด่นในการอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พ.ศ. 2533

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน “บ้านพระยาวิชิตสงคราม” เป็นโบราณสถานแห่งชาติแห่งที่ 4 ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2528

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น