การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
ยุคทองของเมืองภูเก็ต และยุคทองของเจ้าเมืองภูเก็ต เริ่มจะตกต่ำ จนกระทั่งเจ้าเมืองภูเก็ตคนต่อมา คือ พระยาภูเก็ต (ลำดวน) บุตรชายของพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ต้องตกอยู่ในสภาพล้มละลาย เพราะต้องประมูลภาษีแบบเหมาเมืองในอัตราที่สูงประกอบกับราคาดีบุกในตลาดโลกตกต่ำ ในปี พ.ศ.2425 พระยาภูเก็ต (ลำดวน) ติดค้างภาษีไว้มาก จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง และถูกนำตัวไปเร่งรัดภาษีที่กรุงเทพฯ บ้านเรือนถูกยึดเป็นของหลวง ตั้งแต่นั้นมากรุงเทพฯจึงเปลี่ยนการปกครองภูเก็ต และหัวเมืองใกล้เคียง ไปเป็นรูปแบบมณฑลเทศาภิบาลในปีพ.ศ.2437
เมื่อปลดพระยาภูเก็ต (ลำดวน) ออกจากตำแหน่งแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาทิพโกษา (หมาโต โชติกเสถียร) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ตคนแรก มีที่ทำการอยู่ที่เมืองภูเก็ต มีเมืองอื่น ๆ อยู่ในมณฑลภูเก็ต คือ ระนอง ตะกั่วป่า พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ปลิศ และไทรบุรี พระยาทิพโกษา (หมาโต โชติกเสถียร) นับว่าเป็นผู้วางรากฐานการปฏิรูปมณฑลภูเก็ต โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จัดตั้งคณะผู้ปกครองมณฑลขึ้นมีข้าหลวงใหญ่เป็นประธาน มีข้าหลวงฝ่ายมหาดไทย อัยการ สรรพากร และตำรวจภูธรเป็นผู้ช่วยเหลือ
การปฏิรูปมณฑลภูเก็ตซึ่งวางรากฐานโดยพระยาทิพโกษาได้บรรลุผลตามเป้าหมายในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่ง ที่ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่เมืองภูเก็ตไว้เป็นอย่างมาก ซึ่งเราจะพบเห็นร่องรอยในอดีตที่สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯปกครองเมืองภูเก็ต และอนุสรณ์สถานที่จะรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านทั่วไปในเมืองภูเก็ต เช่น ศาลากลางจังหวัด ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ปัจจุบันเป็นธนาคารนครหลวงไทย สาขาภูเก็ต) อาคารสถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตตลอดจนถนนหนทางสายต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น
นอกจากนี้ท่านยังเป็นนักปกครองยอดเยี่ยม สามารถกระตุ้นให้ผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ในเมืองภูเก็ต เช่น พระอร่ามสาครเขตร์ พระพิทักษ์ชินประชา ฯลฯ ให้เข้ามารับใช้บ้านเมือง และสร้างความเจริญให้แก่เมืองภูเก็ตอย่างเต็มกำลัง ทำให้เมืองภูเก็ตในสมัยที่ท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เป็นเมืองตัวอย่างที่สงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย คำกล่าวของชาวภูเก็ตและชาวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก ที่ยกย่องให้ท่านเป็น “ดวงประทีปแห่งชายฝั่งทะเลตะวันตก” หรือ “ยอดนักปกครองในรอบ 200 ปี ของชายฝั่งทะเลตะวันตก” ฯลฯ จึงเป็นคำกล่าวที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน พ.ศ.2475 ได้มีการยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ. 2476 มีฐานะเป็นจังหวัด มีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ปี พ.ศ.2476-2495 จากนั้นเปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2495 ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น