วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศึกแทนทาลั่ม

ศึกแทนทาลั่ม ขี้ตะกรัน (Slag) เป็นกากแร่ ที่เกิดจากการถลุงแร่ดีบุก ขี้ตะกรันเป็นสิ่งเจือปนที่ทำให้ดีบุกไม่บริสุทธิ์ ต้องแยกเอาออกจากเนื้อแร่ดีบุก แล้วทิ้งขี้ตะกรันไป บริษัทไทยแลนด์ สเมลติ้ง แอนด์ รีไฟนิ่ง จำกัด (ไทยซาร์โก้) ผู้ดำเนินกิจการโรงถลุงแร่ดีบุกสมัยใหม่ พบว่า มีแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “แทนทาลั่ม เพนด็อกไซด์” ปะปนอยู่ในขี้ตะกรันถึงร้อยละ 25 ซึ่งแร่ชนิดนี้มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น ส่วนประกอบยานอวกาศ อุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ขีปนาวุธต่าง ๆ แร่ธาตุที่เรียกกันทั่วไปว่า แทนทาลั่ม มีราคาสูงมาก แต่ชาวเหมืองอละรัฐบาลยังไม่รู้จักคุณประโยชน์ของแร่ธาตุชนิดนี้ จึงไม่มีการควบคุมการผลิตและการส่งออกไปต่างประเทศแต่อย่างใด
ศึกแทนทาลั่ม
ศึกแทนทาลั่ม

บริษัทไทยซาร์โก้ได้รวบรวมแร่แทนทาลั่ม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการถลุงแร่โดยไม่ต้องซื้อหาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และขออนุญาตส่งออกในลักษณะวัสดุไร้มูลค่ามานานรายได้มหาศาลเกิดขึ้นกับบริษัทฯ โดยไม่มีใครรู้ ต่อมาเมื่อความต้องการแทนทาลั่มสูงขึ้นและเรื่องผลพลอยได้ที่เกิดจากการถลุงแร่ดีบุกกระจายออกสู่ภายนอก รัฐบาลจึงได้เข้ามาควบคุมการส่งออกแร่ดีบุก โดยใช้ระบบภาษีค่าภาคหลวงขึ้นในการซื้อขายขี้ตะกรัน ขี้ตะกรันจึงกลายเป็นสิ่งมีค่า

ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากขี้ตะกรัน จึงเป็นจุดสนใจของประชาชนในภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้น “โรงกลวง” หรือ โรงถลุงแร่โบราณ ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กลายเป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่า เพราะพื้นดินหรือบริเวณรอบๆ โรงกลวง มีขี้ตะกรันที่ถูกฝังทับถมกันมานาน เมื่อถูกขุดแบบพลิกแผ่นดินหาขี้ตะกรัน ก็เกิดเป็นธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยให้แก่ชาวภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง

บริษัทไทยแลนด์ แทนทาลั่ม อินดัสตรี จำกัด ได้ยื่นโครงการต่อรัฐขอทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมโรงงานผลิตแร่แทนทาลั่มขึ้นในจังหวัดภูเก็ตในปี พ.ศ. 2529 ที่ตั้งโรงงานคือ บริเวณหลังโรงไฟฟ้าลิกไนท์ ถนนเทพกระษัตรี ในระหว่างการก่อสร้าง ได้มีข่าวที่สร้างความสับสนให้กับสังคมภูเก็ต เช่น มลพิษที่จะเกิดจากโรงงาน ซึ่งเป็นพิษร้ายแรงทำอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เรื่องนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อชาวภูเก็ต ประกอบกับในขณะนั้น เตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่เมืองเชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย ระเบิด ความรุนแรงของสารเคมีอันตรายได้แพร่กระจายไปสู่ประเทศข้างเคียง และประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น นอกจาก นี้โรงงานของบริษัทยูเนียนคาร์ไบต์ในเมืองโคปาร์ของอินเดียเกิดอุบัติเหตุในเวลาใกล้เคียงกัน สองข่าวนี้ได้สร้างความกดดันให้กับชาวภูเก็ตเป็นอย่างมาก
ศึกแทนทาลั่ม
ศึกแทนทาลั่ม

รัฐบาลไม่มีคำอธิบายใดๆ ต่อประชาชน และไม่แสดงทีท่าห่วงใยประชาชนให้ปรากฏ แม้ตัวแทนรัฐบาล คือ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยนั้นได้เดินทางมาจังหวัดภูเก็ต เพื่อชี้แจงแก่ประชาชนที่รวมตัวกันประท้วง ณ ศาลาประชาคม ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน 2529 ในขณะที่ผู้นำท้องถิ่นไปรับตัวแทนของรัฐบาลที่สนามบิน แต่เวลาได้ผ่านพ้นไปจนเที่ยงวันก็ไม่ปรากฏตัวแทนของรัฐบาลและผู้ว่าราชการจังหวัด ความร้อน ความหิว การรอคอยที่ไม่มีกำหนดแน่นอน เร่งเร้าให้ประชาชนที่ชุมนุมด้วยความสงบ เริ่มมีปฏิกิริยาและรุนแรงขึ้นตามลำดับ จนไม่มีใครระงับได้ ผู้คนเริ่มขว้างปากระจกของศาลาประชาคมและเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากศาลาประชาคมเข้าไปในเมือง ทำลายสิ่งกีดขวางต่างๆ ด้วยความโกรธแค้น เหตุการณ์ครั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 4 พลโทวันชัย จิตจำนง เรียกว่า “อุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์”

เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายตามลำดับ เมื่อผู้นำการประท้วงนำผู้ชุมนุมมาล้อมโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน ซึ่งเป็นที่พักของผู้แทนรัฐบาล และทำการขว้างปาโรงแรม พยายามที่จะจุดไฟเผาโรงแรม ได้มีผู้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย เหตุการณ์จึงสงบลง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้นำขบวนไปที่โรงงานแทนทาลั่ม พร้อมเผาโรงงานจนเสียหายยับเยิน จนดำเนินการต่อไปไม่ได้ โรงงานจึงต้องปิดไปโดยปริยาย มีเพียงร่อยรอยประวัติศาสตร์ คือ โรงงานที่ถูกไฟไหม้ ถูกทิ้งร้าง และรอคำอธิบายจนถึงทุกวันนี้

1 ความคิดเห็น: