วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปัญญาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดภูเก็ต


หลังจากแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตน้อยลง จนมีปริมาณไม่เพียงพอที่ผู้ลงทุนขอสัมปทานเปิดเหมืองต่อไปได้ รัฐบาลและจังหวัดภูเก็ตพยายามที่จะพัฒนาเมืองภูเก็ตให้ยั่งยืนสืบไป และรุ่งเรืองดังเช่นสมัยที่เมืองภูเก็ตเต็มไปด้วยแร่ดีบุก ประกอบกับความโชคดีของจังหวัดภูเก็ตที่มีสิ่งทดแทน คือ ทะเล หาดทราย และแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ จังหวัดภูเก็ตจึงได้วางแผนพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยกรธรณีวิทยา กรมโยธาธิการ กรมการบินพลเรือน สำนักผังเมือง บริษัทวิจัยธุรกิจ ในปี พ.ศ.2522 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้าง บริษัท Design 103 และ Pacific Consultants เป็นผู้ศึกษาโครงการ และจังหวัดภูเก็ตได้วางนโยบายสำคัญก่อนเปิดประตูสู่การท่องเที่ยว ดังนี้

1. คงไว้ซึ่งลักษณะประจำถิ่นของจังหวัดภูเก็ต

2. อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. พัฒนาให้เป็นที่พักตากอากาศระดับสากล

4. พัฒนาชายหาดแต่ละแห่งให้เป็นสถานที่ตากอากาศ ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามลักษณะของนักท่องเที่ยว

5. พัฒนาสถานที่ตากอากาศ ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของนักท่องเที่ยว

6. คงลักษณะที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของตัวเอง

7. ให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวมากที่สุด

ประเพณีเกี่ยวกับภาษาและการพูดจา

ประเพณีเกี่ยวกับภาษาและการพูดจา

การพูดจาระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทรักใคร่ชอบพอกัน มักใช้คำหยาบทักทายกันโดยไม่สนใจว่าผู้ใดจะได้ยิน คนที่ไม่เข้าใจหรือคนต่างถิ่นอาจจะเข้าใจผิดว่าทะเลาะกัน การขานรับการเรียกของผู้ใหญ่ที่ใช้โดยทั่วไป คือ “โอย” “จ๋า” และคำที่ใช้แสดงการเห็นด้วยมักใช้คำว่า “เออ” หรือ “อือ” “จ๊ะ” ถ้าต้องการพูดแสดงถึงความสุภาพลดความกระด้างลงด้วยหางเสียงว่า “อ๊าว” “อื้อ” “น้า” “ต๊า” “อ่า” เป็นต้น

ภูเก็ตไม่มีประเพณีคนรับใช้ที่จะต้องย่อตัวหรือคุกเข่าต่อหน้าเจ้านาย ทุกคนจะยืนหรือนั่งในที่เสมอกันหมด คนขับรถมีสิทธิ์ร่วมโต๊ะอาหารกับนายจ้างได้ ทำให้ข้าราชการที่ได้มีโอกาสมาบริหารจังหวัดภูเก็ตในระดับผู้ปกครอง มักจะมองว่าชาวภูเก็ตเป็นคนกระด้าง

ภูเก็ตยุคปัจจุบัน กำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้คนต่างถิ่นต่างชาติหลั่งไหลมาเที่ยวภูเก็ต มาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในภูเก็ต อารยธรรมต่างๆ ย่อมหลั่งไหลเข้ามาด้วย และจะต้องกระทบกระเทือนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ค่านิยม ของท้องถิ่นซึ่งมีอยู่เดิม อันสมควรจะนำมาศึกษา เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวิวัฒนาการของประเพณีดั้งเดิมของภูเก็ต ซึ่งจะมีส่วนปลูกฝังจิตสำนึก และค่านิยมในการที่จะรักษาวัฒนธรรมของตนมิให้ถูกทำลาย หรือถูกกลืนหายไปจนหาต้นกำเนิดไม่ได้

ประเพณีเดินเต่า

ประเพณีเดินเต่า

ประเพณีเดินเต่า
ประเพณีเดินเต่า

เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ต นายสมชาย สกุลทับ ได้อธิบายว่า เดินเต่า คือการเดินหาไข่ที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย นิยมกันในบริเวณที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่ คือ บริเวณริมหาดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของเกาะภูเก็ต ทางฝั่งทะเลตะวันตกของอำเภอท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัด ประเพณีเดินเต่ามีมานานแล้ว โดยสมัยดั้งเดิมนั้นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับชายหาดต่างๆ นิยมคดห่อ (ห่อข้าว) ไปกินกันที่ชายทะเลในตอนบ่ายๆ และจะอยู่กันจนรุ่งเช้า จุดไฟผิงกันหนาวแล้วก็ถือโอกาสเดินหาไข่เต่า ซึ่งเป็นสิ่งที่หายาก และเป็นอาหารที่โอชะ การเดินเต่านั้นเดินกันได้เฉพาะฤดูเต่าวางไข่เท่านั้น คือ ประมาณเดือน 11 แรม 1 ค่ำ รายปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน 11 แรม 1 ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน 4 หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ การเดินเต่าในสมัยดั้งเดิม สามารถเก็บไข่เต่ากันได้ทุกคน แต่สมัยหลังๆ รัฐบาลเก็บภาษี โดยให้มีสัมปทานเป็นหาดๆ ไป การเดินเต่าเพื่อเก็บไข่เต่าจึงเป็นสิทธิของผู้รับสัมปทานตามกฎหมาย คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิที่จะเก็บได้ เพียงเดินเต่าเพื่อความสนุกสนาน เพื่อดูเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เท่านั้น

ในช่วงเวลาของการเดินเต่า จะมีผู้คนคึกคักตามชายหาด เพื่อรอดูเต่าวางไข่ เต่าจะมีลักษณะพิเศษประจำ คือ ตัวใดที่เคยมาวางไข่บริเวณใด ก็จะมาประจำบริเวณนั้นและคืนนั้นทุกปี เนื่องจากปัจจุบัน มีการขยายตัวของการท่องเที่ยวเกิดขึ้นทุกชายหาดของภูเก็ต ประกอบกับจำนวนเต่าทะเลลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่ค่อยมีเต่าขึ้นมาวางไข่ตามชายหาดเลย ประเพณีการเดินเต่าจึงเปลี่ยนไปเป็นการตั้งแคมป์พักแรมตามชายหาด เป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งไม่ใช่การเดินเต่าตามความหมายที่แท้จริงดังในอดีต

ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล

ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล

ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล
ประเพณีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล

ประเพณีนี้เพิ่งจะเริ่มจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง เนื่องจากริมชายหาดของภูเก็ตถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หาดทรายซึ่งเคยสงบเงียบถูกสร้างเป็นอาคาร หรือปักร่มสำหรับของนักท่องเที่ยว เสียงรบกวนของดนตรีและแสงไฟ ทำให้จำนวนเต่าซึ่งเคยมาวางไข่เป็นประจำลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ค่านิยมการบริโภคไข่เต่า และเนื้อเต่า การทิ้งน้ำเสียลงทะเล ทิ้งขยะมูลฝอยลงทะเล โดยไม่คำนึงถึงสิ่งมีชีวิตในทะเลทำให้จำนวนเต่าลดลง คาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า ถ้าไม่มีการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี ฉะนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับชาวบ้านตำบลไม้ขาว ได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้น และจัดให้มีการปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี โดยสถานีประมงจังหวัดภูเก็ตได้ให้ความร่วมมือจัดหาลูกเต่ามาให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ประเพณีปล่อยเต่าสู่ท้องทะเล เป็นการปลูกฝังให้ประชาชนรู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นของตน เกิดความรักท้องถิ่น ด้านความเชื่อเกี่ยวกับเต่า คนภูเก็ตเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืน เป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม และเชื่อว่าการปล่อยเต่า เป็นการสร้างบุญบารมีอีกอย่างหนึ่ง

ประเพณีทำบุญขวัญเด็ก

ประเพณีทำบุญขวัญเด็ก


เป็นประเพณีที่รับมาจากจีน ทำให้ทั้งลูกหญิงและลูกชาย พิธีนี้จะทำเมื่อบุตรอายุครบ 1 เดือน เริ่มด้วยตอนเช้าอาบน้ำเด็กที่เข้าพิธีเสียก่อน แล้วนำเด็กไปไหว้พระในศาลเจ้า และขอชื่อเป็นทางการ (ชื่อภาษาจีน) และขอพรจากพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เด็ก ผู้ปกครองของเด็กจะทำขนมเต่าแดง ไข่ต้มทาสีแดง และข้าวเหนียวคลุกน้ำมัน (อิ่วปึ่ง) เพื่อไหว้บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เหลือจะนำไปแจกญาติพี่น้องหรือคนที่คุ้นเคย เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า บ้านนี้มีลูกอายุครบ 1 เดือนแล้ว บ้านไหนที่ได้รับอิ่วปึ่งเป็นของบอกกล่าว ก็จะมีของตอบแทนให้ มักเป็นเงินใส่ซองแดง (อั่วเปา) หรือข้าวสาร เส้นหมี่ซั่ว ไข่ไก่ ให้เป็นสิริมงคลแก่เด็ก

งานบุญเดือนสิบ

งานบุญเดือนสิบ


การจัดงานวันสารทไทยหรือวันทำบุญเดือนสิบของชาวภูเก็ตมี 4 วัน คือ วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ที่วัดม่าหนิก วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ที่วัดพระทอง วันแรม 8 ค่ำ เดือน 10 ที่วัดเทพกระษัตรี ส่วนวัดทั่วไปนิยมจัดงานบุญเดือนสิบในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวภูเก็ตที่นับถือศาสนาพุทธพร้อมใจกันนำอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง เครื่องครัวไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เพื่อทำบุญกุศลอุทิศให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว และมีขนมลา (ขนมที่มีเส้นเล็กๆ ทำจากแป้งและน้ำตาลทอดในน้ำมัน) เป็นขนมที่สำคัญที่จะขาดมิได้ โดยเชื่อว่าถ้าหากบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ต้องชดใช้กรรมเป็นเปรต ก็จะกินอาหารประเภทนี้ได้ เพราะเปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็ม ไม่สามารถกินอาหารอื่นๆ ที่ทำอุทิศให้ได้จึงต้องเผื่ออาหารประเภทนี้ไว้ด้วย ชาวภูเก็ตในอดีตมีการทำสอบช่อ (สอบช่อถือเป็นงานศิลปะหัตกรรมจักรสานท้องถิ่น) สำหรับใส่อาหารแห้ง และจัดทำช่อผักผลไม้เพื่อนำมาช่วยโรงครัวทางวัด หรือบางหมู่บ้านมีประเพณีการแห่จาด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเพณีนี้กำลังจะหมดไป ยังคงศึกษาได้จากงานบุญเดือนสิบวัดเทพกระษัตรี (วันบ้านดอน)

ประเพณีงานศพในภูเก็ต

ประเพณีงานศพ

ประเพณีงานศพภูเก็ต
ประเพณีงานศพแบบจีน ภูเก็ต

งานศพไทย

มีพิธีอาบน้ำศพ และบรรจุหีบศพ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่กับบ้าน หรือถวายสังฆทานมีการเลี้ยงแขกหรือที่มาในงานศพ ทั้งอาหารคาวหวานและเครื่องดื่ม แขกส่วนใหญ่นิยมไปงานศพเวลากลางคืน ในเวลากลางวันเป็นเรื่องของหมู่ญาติ ซึ่งมาช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระ เมื่อถึงเวลาฌาปนกิจจะเคลื่อนศพไปเผายัง ฌาปนสถาน และมักใช้แรงงานญาติมิตรที่ใกล้ชิด ช่วยกันแบกหีบศพวน 3 รอบ ก่อนนำขึ้นสู่เตาเผาวันรุ่งขึ้นตอนเช้าตรู่ทำพิธีเก็บกระดูก บางคนนำกระดูกไปฝัง บางคนนำไปใส่สถูปที่จัดเตรียมไว้ บางคนนำไปลอยทะเล

งานศพจีน 

หีบศพแบบจีน หรือ โลงจีนทำด้วยไม้ซุงทั้งท่อน โดยขุดเป็นหลุมให้ใส่ศพได้ เรียกว่าโลงหัวหมู มีการแต่งตัวผู้ตายและใส่ทรัพย์สินประจำตัวผู้ตายลงไปในโลงศพด้วยการตั้งศพบำเพ็ญกุศลนิยมตั้งศพไว้ที่บ้าน ก่อนนำไปฝังที่สุสานตามประเพณี ในการตั้งศพไว้ที่บ้าน บางคราวต้องปิดถนน เพื่อใช้เนื้อที่ของถนนวาง โต๊ะ เก้าอี้ กางเต้นท์ เพื่อรับรองแขกเหรื่อที่มาร่วมงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมไปร่วมงานในตอนกลางคืน พิธีกรรมมีทั้งพิธีสงฆ์นิกายหินยานและมหายาน หรือ พิธีสวดกงเต็ก การเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมในงาน เป็นเรื่องใหญ่ที่เจ้าภาพถือว่า จะต้องไม่ให้ขาดตกบกพร่อง อาหารที่ใช้เลี้ยงในงานศพมีทั้งคาวหวานและเครื่องดื่ม การเคลื่อนศพไปฝังนิยมใช้คนเป็นจำนวนมากช่วยกันหามโลงไปสุสาน โดยเฉพาะถ้าเป็นศพหรือญาติพี่น้องของเศรษฐีเหมืองแร่จะนำกุลีเหมืองมาช่วยหามโลงศพผลัดเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ ก่อนถึงหลุมฝังศพ นิยมนำไปฝังในสุสานของตระกูล สุสานกวางตุ้ง สุสานเขารัง ผู้ที่มาช่วยหามโลงศพจะได้รับ ของที่ระลึกถ้าเจ้าภาพมีฐานะจะเป็น อังเปา (เงินใส่ซองแดงเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้นำ ช่วยงาน) หรือผ้าขาวม้าสีแดง ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ผูกโบว์สีแดง เป็นต้น

ก่อนเคลื่อนศพออกจากบ้าน จะต้องตั้งโต๊ะไหว้ศพ ของที่นำมาเซ่นไหว้ได้แก่ ไก่ หัวหมู หรือใช้หมูย่างทั้งตัว เส้นหมี่เหลือง เหล้าขาว ขนมครบชุด ผลไม้ ผัก โดยลูกหลานต้องออกมาทำความเคารพแบบจีน และกล่าวคำเชิญผู้ตายให้รับของดังกล่าว พิธีนี้ต้องกระทำให้เสร็จสิ้นก่อนเที่ยง เพราะนิยมเคลื่อนศพออกจากบ้านเวลาเที่ยง นอกจากนี้ลูกหลานจะต้องไว้ทุกข์โดยการสวมเสื้อผ้าเนื้อดิบ ไม่โกนหนวด ไม่ตัดผม และไม่รีดเสื้อผ้า เป็นเวลา 11 เดือน กับอีก 28-29 วัน จึงจะโกนหนวด ตัดผมได้ และเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อผ้าสีเขียวเรียกว่า “ผลัดเขียว” เป็นเวลา 99 วัน จึงเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อผ้าสีแดงและสีต่าง ๆ เรียกว่า “ผลัดแดง” เป็นอันสิ้นสุดการไว้ทุกข์ ปัจจุบันการไว้ทุกข์ไม่เคร่งครัด แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวแต่งกายไว้ทุกข์ เป็นเวลา 3 เดือนบ้าง 1 เดือนบ้าง หรือบางครอบครัวออกทุกข์ทันทีหลังเสร็จสิ้นงานศพ

ความเชื่อเกี่ยวกับการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายของภูเก็ต


ในสมัยก่อนนิยมจัดงานศพที่บ้านไม่ว่าคนไทยหรือคนจีน หากชาวจีนที่มีฐานะดีถึงแก่กรรมนอกบ้าน ก่อนนำศพเข้าบ้าน จะมีการว่าจ้างบุคคลที่มีลักษณะคล้ายผู้ตายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของผู้ตาย ทำทีเดินเข้าทางหน้าบ้าน ส่วนลูกหลานก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันปกติ เข้ามาทักทาย ใครเรียกเตี่ย เรียกก๋ง ก็เรียกเหมือนครั้งที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ เรียกให้นั่งยกน้ำชาให้ดื่ม สักครูจึงมีเสียงร้องไห้ รำพึงรำพันว่าผู้ตายเสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นจึงนำศพผู้ตายเข้าทางหลังบ้านแล้วจึงจัดการทำศพตามประเพณีต่อไป

แต่บางกระแสเล่าว่า มีการแต่งกายให้ผู้ตายเหมือนปกติเป็นประจำทุกวัน แล้วลูกหลานช่วยประคองผู้ตายเข้าทางหน้าบ้าน จัดให้นั่งในที่ๆ เคยนั่งประจำ แล้วจัดให้ผู้ตายนอนลง สักครู่ลูกหลานจึงร้องไห้รำพันถึงการเสียชีวิตของผู้ตาย

พิธีการเหล่านี้ เป็นความเชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคลรุ่งเรืองของลูกหลานสืบไป

งานศพมุสลิม

ชาวมุสลิมในภูเก็ต เมื่อถึงแก่กรรมลงจะทำพิธีศพและนำไปฝังที่สุสานภายใน 24 ชั่วโมง หลังการสิ้นชีวิต นายสุรชัย สาริยา เล่าว่า “พิธีอาบน้ำศพ น้ำอาบศพ จะใส่ใบพุทธา และพิมเสน ครั้นศพสะอาดแล้วจึงเอาสำลีปิดทวารทั้งห้า ห่อศพด้วยผ้าขาว 3 ชั้น โรยด้วยเครื่องหอม มีพิมเสน การบูร และกำยานผง แล้วนำศพไปทำพิธีละหมาด เพื่อขอพรให้แก่ผู้ตาย ก่อนพิธีละหมาด ลูกหลานของผู้ตายจะสอบถามแขกเหรื่อที่มาในงานว่า ผู้ตายมีหนี้สินกับใครบ้าง ต่อไปให้ติดต่อใช้หนี้กับลูกหลานคนใดคนหนึ่งแล้วแต่ละกำหนด หลังจากนั้นจึงนำศพไปที่สุสานเพื่อฝังในหลุมที่เตรียมไว้ วางศพลงบนพื้นดินในหลุม ตะแคงศพไปทางทิศตะวันตก เอาโลงศพที่ไม่มีพื้นท้องโลงครอบศพ แล้วจึงถมดินกลบและมีความเชื่อว่า การฝังศพห้ามเอาศพลงหลุมเวลาเที่ยงตรงกับช่วงตะวันโพล้เพล้”