วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บ้านเรือนแบบชิโน-โปรตุกีส

บ้านเรือนแบบชิโน-โปรตุกีส


ชิโน หมายถึง จีน โปตุเกส หมายถึง โปตุเกส การที่เรียกชื่อลักษณะบ้านแบบนี้ เพราะรูปแบบการสร้างบ้านตามแบบตะวันตก แต่สิ่งตกแต่งภายในเป็นแบบจีน บ้านแบบนี้เป็นบ้านของชาวจีนในภูเก็ตที่อพยพมาจากปีนัง หรือเรียกว่า โคโลเนียนสไตล์ หรือ สไตน์อาณานิคม เพราะเป็นลักษณะวัฒนธรรมการสร้างบ้านของอังกฤษที่นำมาใช้ในอาณานิคม ใช้วัสดุราคาแพง และบางครั้งต้องสั่งวัสดุมาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศอิตาลี ส่วนใหญ่เป็นบ้านของนักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปติดต่อค้าขายกับปีนัง ในสมัยนั้นการคมนาคมระหว่างภูเก็ต-กรุงเทพฯ ไม่สะดวก มีความยากลำบากมาก การติดต่อค้าขายกับปีนังจะสะดวกกว่า และพอใจลักษณะบ้านที่นิยมปลูกกันมากในปีนัง จึงนำรูปแบบมาสร้างบ้านของตนเองในภูเก็ต ลักษณะบ้านที่สร้างในภูเก็ตที่ 2 แบบคือ แบบเป็นอาคารเดี่ยวๆ เรียกว่า อั้งม่อหลาว และ อาคารแบบห้องแถว บริเวณถนนถลาง ถนนพังงา ถนนดีบุก อาคารแบบห้องแถวจะเป็นตึกแถว 2 ชั้น ด้านหน้าของตึกชั้นล่างจะมีทางเดินต่อเนื่องถึงกันโดยตลอด นับเป็นทางเท้าที่เป็นลักษณะเด่นของอาคารแบบนี้เรียกว่า “หง่อกากี่” เป็นทางเดินที่กันแดด กันฝน ได้เป็นอย่างดี ถนนถลางจึงถูกจัดไว้เป็นถนนสายวัฒนธรรม

ลักษณะบ้านแบบนี้เป็นแบบผสมระหว่างสถาปัตยกรรมจีนกับสถาปัตยกรรมโปตุเกส คือแปลนอาคารภายใน แบ่งออกเป็นช่วงๆ แต่ละช่วงจะมีช่องสำหรับให้แสงสว่างตามธรรมชาติส่องลงมาได้ (ภูเก็ตเรียก “ฉิ่มแจ้”) ช่วยให้มีอากาศหมุนเวียนภายในอาคาร โครงสร้างเป็นตึกก่ออิฐหรือเทคอนกรีตแบบยุโรป มีหน้าต่างหรือเฉลียงยื่นออกมาจากตัวบ้าน กรุบานหน้าต่างหรือประตูกระจกสี มีการตกแต่งลวดลายตามขอบประตู และหน้าต่าง หัวเสามีลักษณะเป็นเสาแบบยุโรป คือ ลักษณะเสาแบบ ดอริค (Doric) และ โครินเธียน (Corinthian) ระหว่างเสาจะมีลักษณะเป็นประตูโค้งแบบโรมัน ด้านหน้าจะประดับด้วยลายปูนปั้นแบบจีน กระเบื้องปูพื้นเป็นกระเบื้องแบบฝรั่ง แต่หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบทรงกระบอกผ่าซีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น