วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เมืองถลางสมัยกรุงธนบุรี

เมืองถลางสมัยกรุงธนบุรี

เมืองถลางสมัยกรุงธนบุรี
เมืองถลางสมัยกรุงธนบุรี

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2310 สมเด็ยพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมายโดยเฉพาะ การปราบปรามชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนเพราะเงินทอง และทรัพย์สินที่มีค่า ถูกพม่าปล้นสะดมเอาไปจนหมดสิ้น

ในเรื่องการเร่งรัดจัดเก็บภาษีอากรตามหัวเมืองนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมองให้เจ้าพระยาอินทวงษามาดูแลการจัดเก็บและเร่งรัดภาษีตามหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่เช่น นครศรีธรรมราช ต่อมาได้รับคำสั่งไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองถลาง ขณะนั้นเมืองถลางซึ่งกลายเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ด้านฝั่งทะเลตะวันตกแทนเมืองมะริด และตะนาวศรี และเมืองถลางมีอำนาจในการดูแลหัวเมืองเล็กๆ เช่น เมืองถลางบางคลี เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองคุระบุรี เมืองตะกั่วป่า เมื่อสิ้นสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าพระยาอินทวงษาได้ฆ่าตัวตาย อันเนื่องมาจากความมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวที่จะแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเพียงผู้เดียว หลังจากเจ้าพระยาอินทวงษาฆ่าตัวตาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้แต่งตั้งพระยาธรรมไตรโลก เป็นผู้ดูแลหัวเมืองชายฝั่งตะวันตก แทนเจ้าพระยาอินทวงษา

ในด้านอาวุธซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันประเทศ และปราบปรามชุมนุมต่างๆ ถึงแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถปราบปรามชุมนุมต่างๆ ลงได้ แต่ปัญหาการรุกรานของพม่า ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อมที่จะป้องกันเมือง อาวุธเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันข้าศึก ในขณะนั้น กัปตันฟรานซีส ไลท์ นายทหารนอกราชการชาวอังกฤษ ได้นำสินค้าจากเมืองมัทราสซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มาค้าขายกับรัฐบาลไทยและหัวเมืองต่างๆ สินค้าที่นำมาขายนอกจากอาวุธ ยังมีผ้าฝ้าย ผ้าแพรจากอินเดีย และฝิ่น ดังปรากฏในหนังสือสัญญาของกรมการเมืองถลาง ลงวันศุกร์เดือนแปด ขึ้น 7 ค่ำ ปีระกา นพศก มีใจความว่า

ข้าหลวงกรมการเมืองถลางซื้อปืนดาบศิลา 926 กระบอก จากกัปตันฟรานซีส ไลท์ มีมูลค่าเท่ากับดีบุก 100 ภารา กัปตันฟรานซีส ไลท์ ให้มังกูนายเรือมารับดีบุก และขนปืนสุตัน 926 กระบอก มาให้กรมการเมืองถลาง

จากหลักฐานการสั่งซื้อปืนแลกเปลี่ยนกับดีบุก ทั้งนี้เพราะดีบุกเป็นสินค้าที่อังกฤษต้องการเป็นจำนวนมาก กัปตันฟรานซีส ไลท์ นอกจากจะเป็นพ่อค้าแล้ว ยังเป็นผู้รายงานสถานการณ์ต่างๆ ของเมืองถลาง ส่งไปยังรัฐบาลอังกฤษด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น