วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ท้าวเทพกระษัตรี

ท้าวเทพกระษัตรี


ท้าวเทพกระษัตรี เดิมชื่อ จัน เป็นบุตรคนโตของจอมร้างบ้านตะเคียน และนางหม่าเสี้ย ซึ่งเป็นชาวเมืองไทรบุรี ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีน้อง 4 คน คือ มุก (ท้าวศรีสุนทร) หมา อาด และเรือง

ท่านผู้หญิงจัน ได้สมรสกับ หม่อมศรีภักดี บุตรจอมนายกองชาวนครศรีธรรมราชเจ้าเมืองตะกั่วทุ่งกับแม่ชีบุญเกิด มีบุตรกับหม่อมศรีภักดี 2 คน ผู้หญิงชื่อ ปราง และผู้ชายชื่อ เทียน ต่อมาได้เป็นพระภูเก็จ และพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง (พระยาถลางเทียน) ตามลำดับ เมื่อหม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรม ท่านผู้หญิงจันและลูกกลับมาอยู่ที่บ้านตะเคียนกับบิดา-มารดา และได้สมรสใหม่กับ พระยาพิมล (ขัน) เดิมเป็นพระกระเจ้าเมืองกระบุรี ได้มาช่วยราชการเมืองถลางมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิมล (ขัน) มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ แม่ทอง (ต่อมาได้นำไปถวายตัวได้เป็นจอมมารดา เจ้าครอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุบล ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1) พ่อจุ้ย พ่อเนียม แม่กิม และแม่เมือง ในขณะที่พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลาง ท่านผู้หญิงจันถูกเจ้าหน้าที่ทางกรุงเทพฯ เกาะกุมตัวไปที่ค่ายปากพระเนื่อจากค้างค่าภาษีดีบุก เมื่อค่ายปากพระถูกพม่าตีแตก

ท่านผู้หญิงจันและพรรคพวก ได้ฝ่าวงล้อมหนีกลับมารวบรวมผู้คนชาวถลาง ต่อสู้พม่าด้วยความสามารถจนปกป้องเมืองเอาไว้ได้ พท่าต้องถอยทัพกลับไป เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2328 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบเรื่องราวอย่างละเอียดแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี เป็นวีรสตรีผู้กล้าหาญของบ้านเมือง ได้รับการยกย่องสรรเสริญตลอดมา

ภารกิจสำคัญที่ท้าวเทพกระษัตรีได้ปฏิบัติ อันสมควรแก่การยกย่องในฐานะวีรสตรีของชาติ ในภาวะที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้รุมล้อมอยู่ตลอดเวลา สืบเนื่องมาจากพระยาธรรมไตรโลกแม่ทัพใหญ่จากค่ายปากพระ นำทหารมาเร่งค่าภาษีบุกที่ค้างอยู่ พระยาถลางป่วยหนักจนไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาใด ๆ ได้ เป็นเวลาเดียวกับข่าวข้าศึกพม่าที่ยกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้จะเข้าตีเมืองถลาง พร้อมกันนั้นพระยาถลางซึ่งป่วยหนัก และสิ้นชีวิตลง ยังไม่ทันจะได้จัดพิธีการศพให้สมควรแก่ฐานะ ก็ต้องหันมาคิดหาวิธีป้องกันบ้านเมืองให้รอดพ้นอันตรายจากพม่า ท้าวเทพกระษัตรีผู้มีความสามารถในการรบ มีความกล้าหาญที่จะออกนำหน้าทหาร คิดวิธีตัดกำลังข้าศึกโดยใช้ แผนนบนางดัก จนกองพม่าได้รับความเดือดร้อน ไม่มีน้ำใช้ในกองทัพ ใช้แผนลวงข้าศึกเรื่องกำลังกองทัพ สามารถวางแผนกลยุทธ์ตามหลักพิชัยสงคราม โดยใช้ แผนพิรุณสังหาร จนสามารถป้องกันเมืองไว้ได้

นอกจากนี้ หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว เมืองถลางก็ต้องประสบกับความอดอยากแร้นแค้น เพราะพม่าทำลายข้าวของต่าง ๆ ไปเป็นจำนวนมาก ท้าวเทพกระษัตรีและครอบครัว มาทำแร่ดีบุกอยู่ที่บ้านสะปำ นำไปแลกข้าวสารมาเลี้ยงดูประชาชนมิให้อดยากนับได้ว่าเป็นบุคคลที่อนุชนรุ่นหลังจะต้องเทิดทูนบูชาและรำลึกถึงวีรกรรมในครั้งนี้ชาวภูเก็ตทุกคนเชิดชูเกียรติท้าวเทพกระษัตรีไว้สูงสุด ในฐานะผู้มีพระคุณต่อบ้านเมือง และจังหวัดภูเก็ต จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 มีนาคม เป็น “วันถลางชนะศึก” ของทุกปี จัดเป็นวันสำคัญของจังหวัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น