พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว |
ในยุคทองการทำเหมืองแร่ดีบุก ชาวจีนเข้ามาทำเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก ลูกหลานชาวจีนไม่มีสถานที่เรียนภาษาจีน ชาวจีนจากปีนังจึงได้เปิดสอนภาษาจีนขึ้นในปี พ.ศ. 2453 เป็นการเรียนแบบท่องจำ (ซือซก) ต่อมา พลโทพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ สุทัศน์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตต่อจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้ทำหนังสือถึงเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ยืนยันในการขอรับอุปการะโรงเรียนจีนโดยเปิดเรียนที่ตำบลตลาดใหญ่ก่อน กระทรวงธรรมการอนุญาตให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนได้ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนภูเก็ตฮั่วบุ๋น”
นับเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกในมณฑลภูเก็ต โรงเรียนได้พัฒนาอาคารเรียนให้เหมาะสมกับจำนวนลูกหลานคนจีนที่เพิ่มมากขึ้น โดยการสนับสนุนของคหบดีในยุคนั้น คือ นายตันเคกิ๋ว (ตระกูลตันติวิท) นายหงอฮั่นก๋วน (ตระกูลอุปัติศฤงค์) นายตันเองกี้ (ตระกูลอุดมทรัพย์) และผู้ที่จิตศรัทธาอีก 45 ท่าน สละเงินสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก รูปแบบสถาปัตยกรรมชิโนโปตุกีส อาคาหลังนี้ได้เปิดใช้เป็นอาคารเรียนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2477
ต่อมาโรงเรียนถูกปิด และเพิกถอนใบอนุญาต ด้วยเหตุผลทางการเมืองในสมัยนั้นถึง 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ.2484 และ พ.ศ.2490 ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ชาวจีนในจังหวัดภูเก็ตได้รวบรวมเงินและบุคลากรทางการศึกษา เปิดโรงเรียนอีกครั้งหนึ่งใช้ชื่อว่า “โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว” กิจการของโรงเรียนเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จนสถานที่เรียนคับแคบ คณะกรรมการโรงเรียนจึงได้รวมกันจัดตั้ง โรงเรียนประศาสตร์วิทยา ขึ้น เปิดสอนในระดับมัธยมต้น รองรับนักเรียนประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนภูเก็ตไทยหัว โรงเรียนดำเนินการมาจนถึงปี พ.ศ. 2507 โรงเรียนประศาสน์วิทยาจึงได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่บริเวณถนนวิชิตสงคราม ต่อมา ในปี พ.ศ. 2538 โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว ได้ย้ายสถานที่เรียนมาอยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงเรียนประศาสน์วิทยา และในปี พ.ศ.2542 ได้รวม 2 โรงเรียนเข้าด้วยกันเป็น โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว (ประศาสน์วิทยา) ดังนั้นบทบาทของอาคารโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวถนนกระบี่หลังนี้ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ก็สิ้นสุดลง ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2548
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน “พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว” เป็นโบราณสถานแห่งชาติ แห่งที่ 5 ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น