ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต |
ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เป็นแบบสิ่งก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ชาวอิตาเลี่ยนเป็นผู้สร้าง ได้สร้างแตกต่างไปจากศาลากลางจังหวัดอื่นๆ อาคารลักษณะนี้มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตสร้างขึ้นในสมัย พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ระหว่าง พ.ศ. 2450-2456 พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ได้เชิญบริษัทฝรั่งมาขุดแร่ในเขตประทานบัตรแปลงข้างหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดภูเก็ต บริเวณถนนหลวงพ่อวัดฉลอง ถนนพังงา ถนนสุรินทร์ และถนนสุทัศน์ในปัจจุบัน พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้ให้บริษัทฝรั่งสร้างศาลากลาง เป็นการแลกเปลี่ยนกับประทานบัตรการขุดแร่ดีบุก บริษัทฝรั่งนั้นก็ให้ชาวอิตาเลี่ยนมาทำการก่อสร้าง
ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตตั้งอยู่บนเชิงเขาโต๊ะแซะ อาณาบริเวณด้านหน้าติดกับถนนนริศร ด้านซ้ายติดกับถนนสุรินทร์ ด้านหลังติดกับถนนดำรง พื้นที่อาคารชั้นล่างสูงกว่าพื้นดิน 5 ขั้นบันได เป็นอาคาร 2 ชั้น อาคารที่สร้างขึ้นรุ่นใกล้เคียงกับศาลากลาง มักจะมีเสาใหญ่ขนาดตั้งแต่ 60 x 60 ซม.ขึ้นไป แต่เสาศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เป็นเสาปูนเสริมเหล็กที่มีขนาดเล็กเพียง 15 x 20 ซม. ด้านบนของเสาตกแต่งด้วยไม้สักฉลุเป็นลวดลาย ตรงช่องลมมีลวดลายสองประเภท ฉลุบนไม้สักสองขนาด ลวดลายบนไม้คล้ายดอกทิวลิปเหนือขึ้นไปเป็นไม้สักขนาดใหญ่ ฉลุลวดลายเป็นรูปดอกไม้ที่อยู่ในแจกัน
ในวโรกาสฉลองพระมหานครครบ 200 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานเกียรติบัตรแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในการที่ได้อนุรักษ์ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2525
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต” เป็นโบราณสถานแห่งชาติ แห่งที่ 1 ของจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2520
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น