การเกษตรกรรมภูเก็ต |
การเกษตรกรรม แม้ว่าภูเก็ตจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่การเกษตรกรรมก็ยังเป็นรายได้ที่สำคัญของชาวภูเก็ตอยู่ พืชเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่
ยางพารา ปลูกมากที่อำเภอถลาง ยางที่ปลูกเป็นยางพันธุ์ดีที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ ชาวสวนยางส่วนใหญ่จะขายยางในรูปแผ่นยางดิบ ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ขายน้ำยางดิบ โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่สวน แต่ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร พื้นที่ปลูกยางพารามีประมาณ 112,369 ไร่ คุณภาพของยางแผ่นที่จำหน่ายยังไม่ดีเท่าที่ควร ปัจจุบันสวนยางพารามีจำนวนลดน้อยลง เพราะมีการโค่นต้นยางพารา เพื่อใช้พื้นที่ประกอบธุรกิจอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น รีสอร์ท สนามกอล์ฟ บ้านจัดสรร นอกจากนี้ ลูกหลานชาวสวนยางพาราไม่นิยมที่จะสืบทอดอาชีพกรีดยาง แต่นิยมไปทำงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวมากกว่า อาชีพกรีดยางในปัจจุบันต้องอาศัยแรงงานชาวอีสานที่เข้ามาทำงานในภูเก็ต
สับปะรด มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 3,000 ไร่ ปลูกมากในอำเภอถลาง นิยมปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางพาราในขณะที่ต้นยางยังเล็ก เพื่อเป็นรายได้ก่อนยางพาราจะเติบโต สับปะรดในภูเก็ตเป็นสับปะรดพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยว เพราะมีคุณภาพพิเศษเฉพาะตัว คือ กรอบ หวาน แตกต่างจากสับปะรดพันธุ์อื่นๆ
ข้าว มีการปลูกมากในเขตอำเภอเมือง และที่อำเภอถลาง พื้นที่ปลูกมะพร้าวมีประมาณ 20,520 ไร่ และมีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเปลี่ยนสภาพเข้าสู่สังคมเมือง มากกว่าที่จะเป็นสังคมชนบท พื้นที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนสภาพเป็นบ้านจัดสรรเกือบทั้งหมด
พืชผักต่างๆ มีปลูกมากในบริเวณบ้านราไวย์ แหลมพรหมเทพ ป่าหล่าย พืชที่ปลูกได้แก่ ถั่วฝักยาว แตงร้าน ผักคะน้า ผักกาดหอม ฯลฯ แต่ปลูก เพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในท้องถิ่น จึงต้องซื้อจากจังหวัดใกล้เคียง ภูเก็ตจึงเป็นตลาดการค้าพืชผักของพ่อค้าต่างจังหวัด และพ่อค้าคนกลางชาวภูเก็ตรับซื้อสินค้าจากพ่อค้าต่างจังหวัดนำมาขายต่อให้ชาวภูเก็ต ราคาของพืชผักอาหารต่างๆ ในภูเก็ตราคาจึงค่อนข้างสูงกว่าที่อื่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น