วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ที่มาของชื่อ “ภูเก็จ” และ “ภูเก็ต”

ที่มาของชื่อ “ภูเก็จ” และ “ภูเก็ต”

มณฑลภูเก็จ
มณฑลภูเก็จ

ในอดีตนั้นไม่ปรากฏชื่อภูเก็ตในหนังสือเดินทางราชการแต่อย่างใด เพราะสมัยที่อยู่ในการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกชื่อว่า “เมืองตะกั่วถลาง” ครั้นถึงสมัยอยุธยาสัญญาทางไมตรีกับฝรั่งเศส ฉบับภาษาไทยก็เรียกว่า “เมืองถลาง” มาโดยตลอด มิได้เรียกว่า “ภูเก็ต” หรือ “ภูเก็จ” ชื่อภูเก็ตเพิ่งปรากฏในสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานในเอกสารเมืองถลาง ตั้งแต่ พ.ศ.2328 นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ที่อ้างอิงถึงการใช้ภูเก็จ “จ” สะกด ดังนี้

1. จดหมายเหตุเมืองถลางของท้าวเทพกระษัตรี มีไปถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้กล่าวถึง “เมืองภูเก็จ” (ตำแหน่งของคุณเทียน บุตรท้าวเทพกระษัตรี) และต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น “พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง” อันหมายถึงตำแหน่งผู้ครองเมืองภูเขาแก้ว นั้นเอง

2. พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ทรงเขียนว่า “มณฑลภูเก็จ” ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128” ใช้พระนามแฝงว่า “นายแก้ว” มีความตอนหนึ่งว่า ส่วนเมืองภูเก็จนั้น เป็นเมืองซึ่งพึ่งจะมีขึ้นใหม่ ๆ

ผมกุว่า ชื่อน่า จะมาจากคำภาษามลายูว่า “บูกิต” แปลว่า เขา แล้วจึงแปล มาเป็น “พูเก็ต” ต่อมาบางทีจะมีใครมีความรู้ภาษาไทยดี ๆ มาคิดเขียน สะกดตัวเสียใหม่ว่า “ภูเก็จ” ให้สำเนียงคงอยู่อย่างเดิม แต่ให้มี คำแปลได้ขึ้น คือ ผสมคำ “ภู” แปลว่า เขา “เก็จ” แปลว่า ฝั่ง เข้าด้วยกัน... เมืองภูเก็จยังมีชื่อที่ได้ยินฝรั่งชั้นพ่อค้าใช้เรียกอยู่มาก อีกอย่างหนึ่งคือ “ทองคา” ชื่อทองคานี้มาจากคำไทยว่า “ทุ่งคา” คือ ทุ่งที่มีหญ้าคามาก พวกจีนพูดสำเนียงไทยไม่ชัด เรียกหมู่บ้าน ทุ่งคาว่า “ท่องคา” ฝรั่งเรียกตามจีนอีกชั้นหนึ่ง นี่ไม่ใช่ กุ เป็น ความที่จริง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บัญญัติไว้ว่า “กุ” คือการสร้างให้เป็นเรื่องเป็นข่าวขึ้นโดยไม่มีมูล ดังนั้น ชื่อ “ภูเก็จ” ที่ว่ามาจากคำว่า “บูติก” ในภาษามลายูนั้น เป็นการกุ คือ พูดเล่น ๆ โดยไม่มีมูลความจริง

3. ตราประทับของกระทรวงมหาดไทย ประจำมณฑล เขียน “มลฑลภูเก็จ” 4. เครื่องบินประจำมณฑล เขียนข้างเครื่องบินว่า “มลฑลภูเก็จ” 5. ภาพแผนที่ระวาง ซึ่งเขียนโดยกรมแผนที่ทหาร ก็ใช้คำว่า “ภูเก็จ” 6. บันทึกของสาธารณสุขมณฑล เขียน “มณฑลภูเก็จ”

นอกจากหลักฐานที่ปรากฏดังกล่าวแล้ว ยังมีตำนานเชิงประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการยึดครองดินแดนของทมิฬโจฬะ ประมาณ พ.ศ.1568 กองทัพส่วนหนึ่งยึดอาณาจักรศรีวิชัย ชายฝั่งตะวันออก และกองทัพบางส่วนได้ยึดดินแดนแถบฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมไทยและได้ตั้งหลักแหล่งขึ้นที่บริเวณนี้ เรียกว่า “มนิกกิรมัม” (บ้านม่านิกในปัจจุบัน) แปลว่า เมืองทับทิม หรือ เมืองแก้ว ทมิฬโจฬะได้ปกครองดินแดนนี้ตั้งแต่ พ.ศ.1568-1603 จึงถูกพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งศิริธรรมนครขับไล่ออกไปได้ ยังคงมีเพียงร่องรอยวัฒนธรรมบางประการที่หลงเหลืออยู่

สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นชื่อ จังซีลอน ถลาง สลาง ภูเก็จ และภูเก็ต ต่างเป็นชื่อที่เคยใช้เรียก ถลาง และภูเก็ตทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกในต่างเวลา ต่างวาระเท่านั้น สิ่งสำคัญคือ การมีจิตสำนึกที่ดีต่อบรรพชนที่ได้ปกป้องแผ่นดินนี้ด้วยเลือดและปัญญาที่เฉียบคม เพื่อรักษาดินแดนแห่งโภคทรัพย์ไว้ให้ลูกหลานได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมาตลอดเวลาอันยาวนาน ขณะนี้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในยุคสมัยของเรา เราได้สร้างสิ่งที่ดี หรือทำลายดินแดนนี้ไปมากน้อยเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น