พระยาราชกปิตัน (ฟรานติส ไลท์)
พระยาราชกปิตัน (ฟรานติส ไลท์) |
ฟรานซิส ไลท์ เป็นชาวอังกฤษ เข้ามามีบทบาทในแหลมมลายู ได้เป็นเจ้าเมืองปีนังคนแรก เป็นที่นับถือของเจ้าเมืองต่างๆ ในแหลมมลายู ฟรานซิส ไลท์ เคยเข้ามาพักที่เมืองถลาง มีความคุ้นเคยกับครอบครัวท้าวเทพกระษัตรีเป็นอย่างดี ดังความปรากฏในจดหมายเหตุเมืองถลางฉบับต่างๆ ฟรานซิส ไลท์ กระทำความดีความชอบจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาราชกปิตัน”
ฟรานซิส ไลท์ ได้ศึกษาในโรงเรียนนายเรือ และได้ประจำอยู่ในเรือ H.M.S Arrogant เป็นนายเรือพาณิชย์ สังกัดบริษัทอินเดียตะวันออก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่เบงกอล ประเทศอินเดีย ได้เข้ามาค้าขายติดต่อกับเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองถลางด้วย ฟรานซิส ไลท์ ได้แต่งงานกับชาวถลางซึ่งเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส-ไทย ชื่อ มาร์ติน่า โรเซลล์ ราวปี พ.ศ.2315 (ค.ศ. 1772) มีบุตรด้วยกัน 5 คน ชาย 2 คน หญิง 3 คน คนโตเป็นหญิงชื่อ ซาราห์ คนที่ 2 เป็นชายชื่อ วิลเลี่ยม ลูกสาวอีก 2 คน ชื่อ แมรี่ และ แอน บุตรชาย คนเล็ก ชื่อ ฟรานซิส ลานูน ไลท์ อาชีพของฟรานซิส ไลท์ คือการค้าขายและเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการค้าดีบุก เป็นที่รู้จักนับถือแก่บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ และเป็นที่พึ่งเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ พระยาถลาง (พระยาพิมลขัน) และครอบครัว
ฟรานซิส ไลท์ มิได้เข้ามาเพื่อทำการค้าเพียงอย่างเดียว เขาสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองด้วย นอกจากเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์ให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกแล้ว ฟรานซิส ไลท์ มีความคิดที่จะเอาเกาะถลางเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพราะเกาะนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุก แต่ก็เปลี่ยนใจ ไม่ยึดเมืองถลาง เพราะเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเสียก่อน และประจวบกับพระยาถลางถึงแก่กรรมเหลือแต่ภรรยาอังกฤษเห็นว่าชาวภูเก็ตต้องการอิสระ และไม่ชอบถูกชาติอื่นปกครอง หรืออาจจะเห็นว่าเมืองถลางป้องกันภัยยากกว่าปีนัง ประกอบกับอังกฤษได้ปีนังซึ่งมีที่จอดเรือที่ดีกว่า เมื่อได้เกาะปีนังแล้วก็ตั้งชื่อใหม่ว่า “เกาะพริ้นซ์ ออฟ เวลล์” ฟรานซิส ไลท์ ได้สร้างความเจริญให้กับปีนังอย่างมากมาย ผู้คนต่างอพยพเข้ามาอยู่ที่เกาะปีนัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น